ไม่ใช่แค่ผู้นำอีคอมเมิร์ซ แต่โมเดลธุรกิจวันนี้ของทั้ง JD.com และ Alibaba ยังก้าวสู่การเป็นเจ้าตลาด New Retail ครบวงจร ครอบคลุมถึงการเชื่อมช้อปออนไลน์กับตลาดสด นับตั้งแต่มีการเปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตสุดไฮเทค “เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh)”ของอาลีบาบาในปี 2560 ตามมาด้วย 7Fresh ของ JD.com ที่เปิดตัวเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
หนึ่งในสินค้าที่ขายดิบขายดี คือ ผลไม้นำเข้าจากไทยที่ฮอตฮิตสุดๆ มาดูกันว่า ทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างในการสั่งซื้อผลไม้จากไทย เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าชาวจีนซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่มีมูลค่ามหาศาล
JD.com ส่ง 7Fresh เซ็นสัญญาซื้อผลไม้ลอตใหญ่ มูลค่านับหมื่นล้าน
จากรายงานข่าวของ chinanews.com เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดว่า 7FRESH แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมของ JD.com ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ ม.ค.ปีก่อน และเป็นคู่แข่งสำคัญของ ‘เหอหม่า’ในเครืออาลีบาบา มีแผนจับมือร่วมกับ “หย่งฮุย” เชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในจีน สั่งซื้อผลไม้นำเข้าจากไทยมูลค่า 5 พันล้านหยวน (ประมาณ 2.25 หมื่นล้านบาท) เป็นระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้


การลงนามความร่วมมือระหว่าง 7FRESH กับหย่งฮุยซูเปอร์มาร์เก็ต
หวัง เซี่ยวซง รองประธานอาวุโสของกลุ่ม JD.com และประธานของ 7FRESH กล่าวว่า 7FRESH มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับหย่งฮุยซูเปอร์มาร์เก็ต โดยการบริหารจัดการซัพพลายเชนอาหารสดร่วมกัน จะช่วยส่งผลดีต่อการการพัฒนาช่องทางค้าปลีกอาหารสดแบบครบวงจรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ 7FRESH ยังได้เซ็นสัญญากับผู้ประกอบการผลไม้หลายรายของไทย สั่งซื้อผลไม้รวมกันมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านหยวน ( ประมาณ 6.75 พันล้านบาท) และในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ยังมีแผนสั่งซื้อผลไม้เมืองร้อน 4 ชนิดของไทยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะพร้าวน้ำหอม
ที่ผ่านมา 7FRESH ยังได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทจิงกว่อหยวน (Jinguoyuan) ซัพพลายเออร์ลำไยรายใหญ่ที่สุดของโลกในการจัดซื้อลำไยจากเมืองไทย มูลค่า 500 ล้านหยวน ในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยจะใช้ช่องทางการตลาดแบบ Omni-Channel ที่มีอยู่ทั้งหมดของ 7FRESH เพื่อช่วยผลักดันผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน
ขณะเดียวกัน 7FRESH ยังได้ร่วมลงนามทำสัญญากับบริษัทจั่นฮุ่ย ฯ (Zhanhui International Trade Thailand) สั่งซื้อลำไยและมะพร้าวน้ำหอมจากไทย มูลค่า 1 พันล้านหยวน (ประมาณ 4.5 พันล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 3 ปีอีกด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ 7FRESH ในปี 2561 ยอดขายทุเรียนหมอนทองของไทยในช่องทางออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของสินค้าทุเรียนทั้งหมด ถือเป็นสินค้าขายดีที่ประสบความสำเร็จมาก
กระแสความนิยมของทุเรียนหมอนทองไทย ทำให้สินค้าทุเรียนโดยภาพรวมยังถือว่าน่าจับตามอง ยอดขายต่อปีของปี 2560 เพิ่มขึ้น 2,600% ขณะที่ปี 2561 ยังถือว่ามีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วต่อเนื่อง
“เฟรชชิปโป” ค่าย Alibaba เซ็นสัญญา 5 ผู้ประกอบการผลไม้ไทย
ขณะที่ด้านคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Alibaba ก็มีความเคลื่อนไหวในการนำเข้าผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนเช่นกัน
จากการเปิดเผยล่าสุดของ บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า ขณะนี้ “เฟรชชิปโป (Freshippo)” หรือชื่อเดิม “เหอหม่า” ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์และออนไลน์ ในเครือ Alibaba Group ได้คัดเลือกและเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการผลไม้ของไทยจำนวน 5 ราย ให้เป็นผู้ส่งออกทุเรียน มะพร้าว ลำไย และมะม่วงให้กับเฟรชชิปโป อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มต้นดำเนินธุรกิจร่วมกันตั้งแต่เดือนเม.ย.2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผลผลิตผลไม้ไทยที่กำลังออกสู่ตลาดมีตลาดรองรับ และจะทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้ได้ในราคาที่สูงขึ้น
“การร่วมมือกับเฟรชชิปโป ในการขยายตลาดผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กรมฯ ได้ทำงานเชิงรุกในการผลักดันผลไม้ไทยเจาะตลาดจีน โดยได้เชิญมาเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการผลไม้ไทย เมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และประสบผลสำเร็จจนในที่สุดสามารถตกลงทำธุรกิจร่วมกันได้ โดยคาดว่าจะทำให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเฟรชชิปโปมีแผนที่จะขยายสาขาจาก 100 สาขาเป็น 150 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในปี 2566” อธิบดีบรรจงจิตต์กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนมีมูลค่า 23,152.32 ล้านบาทคิดเป็น 40% ของมูลค่าส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย ขยายตัว 51.11%
ด้าน ไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย มองว่าความร่วมมือกับเฟรชชิปโปครั้งนี้ จะช่วยในการกระจายผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน เพราะมีช่องทางจำหน่ายทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
“ สินค้าที่มีโอกาส คือ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว แต่ทุเรียนจะต้องให้ความรู้กับผู้ซื้อว่าควรบริโภคเมื่อใด เพราะอาจเสียหายได้ ซึ่งการนำไปขายในตลาดออฟไลน์ ไม่น่ามีปัญหา เพราะมองเห็นตัวสินค้า แต่การขายออนไลน์ ต้องแนะนำผู้ซื้อที่จะนำไปขายให้ดี ว่าทุเรียนจะรับประทานได้เมื่อใด ควรให้ถึงมือลูกค้าแล้วรับประทานได้เลย โดยผู้ประกอบการไทยควรจะร่วมมือกับผู้ประกอบการจีน เช่น การติดสติกเกอร์ระบุวันที่สามารถรับประทานได้ หรือฝึกผู้ที่รับผิดชอบนำไปขายออนไลน์ ให้ดูทุเรียนเป็นว่าจะสุกเมื่อใด บริโภคได้เมื่อใด เมื่อลูกค้าสั่งซื้อแล้ว จะได้คำนวณและจัดส่งได้ถูก นอกจากนี้ควรให้ความรู้แก่ผู้ซื้อในเรื่องการเคาะทุเรียน และการปอกทุเรียนด้วย”
สำหรับสถานการณ์การส่งออกผลไม้ มองว่าตลาดยังไปได้ดี ไทยยังส่งออกได้ โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ ขนุน มะพร้าวยังเติบโตได้ดี แต่ในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า ต้องคำนึงถึงคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกษตรกร/ผู้ประกอบการเองจะต้องเร่งพัฒนา ควบคุมคุณภาพ ผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะทำให้ผลไม้ไทยแข่งขันได้ต่อไป
—————————————————