ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน มีผลิตผลอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชเศรษฐกิจเขตร้อนเป็นหลัก เช่น เครื่องเทศยางพารา ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น มีหลากหลายประเภทและราคาย่อมเยา
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) ที่ตั้งอยู่ในเมืองฉงจั่ว ซึ่งเป็นเมืองการค้าชายแดนอันดับหนึ่งของจีน และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และอยู่ห่างจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเพียง 240 กิโลเมตร รวมถึงตั้งอยู่ห่างจากอ่าวตังเกี๋ยในกว่างซี 100 กว่ากิโลเมตร เป็นหน้าต่างบานสำคัญในความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน
ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ได้สร้างหลักประกันด้านทรัพยากรให้แก่การพัฒนาของนิคมฯ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเลิศ ช่วยให้สินค้าของนิคมฯ กระจายสู่ตลาดจีนและตลาดอาเซียนได้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจไทยที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงแห่แหนเข้ามาลงทุน
จ้าว ปอ เลขาธิการนิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) กล่าวว่า ในอนาคตนิคมฯ จะเพิ่มความร่วมมือด้านกำลังการผลิตระหว่างประเทศ ด้วยผลพวงจากงานไชน่า-อาเซียนเอ็กซ์โป รวมถึงความร่วมมืออันดีระหว่างนิคมฯฉงจั่วกับประเทศไทย ดึงดูดธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน ส่งผลให้นิคมฯ กลายเป็นพื้นที่ใหม่ของเขตสาธิตความร่วมมือไทย-จีนที่มีธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน
อัปเกรด “อุตสาหกรรมความหวาน” ในดินแดนแห่งความหวาน
ในเมืองฉงจั่ว มี Guangxi Nanning East Asia Sugar Group ซึ่งเป็นธุรกิจต่างชาติรุ่นแรกๆ ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลของจีน และเป็นธุรกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดในกว่างซี หุ้นส่วนหลักของบริษัทแห่งนี้ คือ Mitrphol Group ซึ่งเป็นบริษัทน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของไทย
นอกจากนำอ้อยของฉงจั่วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว เพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์ทรัพยากร ยังต้องผลิตเป็นสินค้าที่หลากหลาย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 โครงการผลิตน้ำตาลของ Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. ได้เริ่มก่อสร้างในนิคมฯ บนพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำตาลเชิงลึก (ราว 1,667 ไร่) โซนอุตสาหกรรมน้ำตาลปลายน้ำ และโซนผลิตวัตถุดิบเสริม (ราว 833 ไร่) โซนแปรรูปอาหารอาเซียน (ราว 1,458 ไร่) โซนคลังสินค้าและโลจิสติกส์ (ราว 250 ไร่) โซนไชน่าทาวน์ (ราว 1,875 ไร่) และศูนย์ Big Data อุตสาหกรรมน้ำตาลจีน (ราว 208 ไร่) ขณะนี้โครงการดำเนินการสร้างสำเร็จลุล่วงไปแล้วกว่า 65% คาดว่าเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จะเริ่มการผลิต
ไม่เพียงเท่านี้ จ้าว ปอ กล่าวว่า ตอนนี้นิคมฯ ฉงจั่วกำลังหารือความร่วมมือกับบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังที่มีอิทธิพลมากที่สุดของไทย โดยจะใช้เทคนิคทางการผลิตของ Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. เพื่อผลิตสินค้าปลายน้ำ เช่น ยีสต์ ผงโปรตีน และผลิตยา เป็นต้น
“กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือ ปรับปรุงกลไกความร่วมมือ ร่วมกันวิจัยและพัฒนาโมเดลเปิดกว้าง ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศอาเซียน รวมถึงอาศัยทรัพยากรทั้งในและต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์ของนิคมฯ จุดแข็งด้านคมนาคม และจุดแข็งด้านทรัพยากรอย่างเต็มที่ ชี้นำตามหลักการ รวมกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ (Cluster) อีกทั้งขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาล มุ่งมั่นสร้างฐานสาธิตนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลหมุนเวียนของจีน” จ้าว ปอ กล่าว
ใช้จุดแข็ง “2 ทรัพยากร” บุกเบิก “2 ตลาด”
จ้าว ปอ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากนิคมฉงจั่วฯ จะพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลร่วมกับ Mitrphol Group แล้ว ยังพยายามมองหาทรัพยากรต่างๆ ของไทย เช่น ยางพารา และผลิตผลพลอยได้ทางการเกษตร เป็นต้น เพื่อขยายตลาดจีนและตลาดอาเซียน
“ไม่นานมานี้ นิคมฯ ฉงจั่วกับผู้ค้าไม้ยางพาราของไทยรายหนึ่ง ได้หารือโครงการซื้อขายไม้อาเซียน โดยจะนำไม้ยางพาราของไทย ขนส่งจากท่าเรือฝางเฉิงก่างและท่าเรือชินโจวไปยังนิคมฉงจั่วฯ จนกลายเป็นแหล่งรวมวัสดุไม้จีน-อาเซียน ในอนาคตแหล่งรวมวัสดุไม้แห่งนี้ จะเทียบเท่ากับนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ธุรกิจสามารถซื้อขายกันที่นี่ แล้วค่อยนำสินค้ากระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจีน” จ้าว ปอ กล่าว
นอกจากนี้ นิคมฯ ฉงจั่วยังลงนามข้อตกลงกับนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ซึ่งเป็นนิคมฯ ผลิตยางล้อรถอันดับ 1 ทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น วิจัยและพัฒนายางล้อรถ และสร้างนิคมอุตสาหกรรมร่วมกัน
ในด้านผลิตผลพลอยได้ทางการเกษตร จ้าว ปอ กล่าวว่า นิคมฯ ฉงจั่วจะนำเข้าผลไม้เขตร้อนจากกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ทุเรียนแช่แข็งของไทย และรับเอาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain logistics) ของนักธุรกิจชาวไต้หวัน สร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอาหารจีน-อาเซียน (Cold chain logistics) เนื้อที่ประมาณ 333-417 ไร่
“จากด่านโหยว่อี้กวนถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตร แต่ด้วยปัจจัยทางโลจิสติกส์ในปัจจุบันใช้เวลา 16 ชั่วโมงก็ถึง หลังจากผลไม้เข้าถึงนิคมฉงจั่ว ก็จะถูกคัดแยกจากศูนย์กลางโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain logistics) แล้วค่อยส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ โครงการนี้จะช่วยยืดอายุและเก็บรักษาความสดใหม่ของผลไม้ ทั้งยังลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ” จ้าว ปอ กล่าว ขั้นต่อไป นิคมฯ ฉงจั่วจะนำสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากอาเซียนอย่างประเทศไทย มาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ทุเรียนอบแห้ง บิสกิตรสทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า