การเจรจาจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่เพิ่งปิดฉากลง
เมื่อผู้นำอาเซียนต่างเห็นพ้องร่วมกันที่จะต้องเร่งผลักดันให้ความตกลง RCEP ซึ่งเริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2556 ลุล่วงภายในปีนี้ เพื่อเป็นพลังหลักที่จะขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่าง 16 ประเทศสมาชิกที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรม
สำหรับประเด็นที่สมาชิก RCEP ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และจำเป็นต้องมีการตัดสินใจระดับการเมือง สามารถหยิบยกให้ที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ในเดือนสิงหาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
โดยความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างประเทศของสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาคอาเซียนและ RCEP นำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุน
ทั้งนี้ สมาชิก RCEP 16 ประเทศ มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าโลก
โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58.7 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.6 โดยประเทศสมาชิก RCEP ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล เหล็ก
——————————–