อยากรวย อยากค้าขายกับคนจีนยุคนี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจแลนด์สเคปสมรภูมิธุรกิจจีนเสียใหม่ ในยุคที่ไลฟ์สไตล์คนจีนผูกติดกับดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างแยกไม่ออก อะไรคือเรื่องที่ต้องรู้? อะไรคือสิ่งที่ควรทำ? ถ้าอยากติดอาวุธไอเดียธุรกิจเพื่อให้ทำมาค้าคล่องกับชาวจีน โดยที่ภาษาไม่เป็นอุปสรรค และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหลอก มาลองฟังคำแนะนำดีๆผ่านมุมมอง 3 กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจีน
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (TCRC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติการค้าระหว่างประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นจีนยุค 5G ว่า จีนวันนี้มีความชาญฉลาดในการใช้เทคโนโลยีมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ จีนก้าวสู่สังคมไร้เงินสดที่ไม่ได้อาศัยแค่การสแกนคิวอาร์โค้ด แต่ใช้อีวอลเล็ต (E wallet) ชำระเงิน มีทั้งกระเป๋าอาลีเพย์ วีแชตเพย์ ล้ำหน้าด้วยการชำระด้วยรอยยิ้ม หรือ สมายทูเพย์ (Smile to pay) สแกนหน้าแล้วซื้อของได้เลย
จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น หากนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปทำการค้าหรือทำตลาดที่จีน อันดับแรกต้องมีทักษะความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Skill) มีประสบการณ์จริงในการขายสินค้าออนไลน์มาก่อนและต้องเข้าใจชีวิตแบบดิจิทัลสไตล์ เปิดอี-วอลเล็ต (E Wallet) เป็น แล้วจึงเริ่มคัดเลือกและพัฒนาสินค้าที่จะไปขายออนไลน์ที่จีน
“สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำก่อนไป คือ ทำการบ้านอย่างหนักและเข้าใจเงื่อนไขของจีน เช่น ตอนนี้จีนกำหนดว่า แค่มี บาร์โค้ดติดไปกับสินค้าไม่พอ บาร์โค้ดที่ว่าต้องตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต และข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสินค้าชนิดนั้นไว้ด้วย เช่น ถ้าจะนำเอาทุเรียนไปขายจีน จะต้องบอกให้ได้ว่าเป็นทุเรียนที่ปลูกจากสวนไหน จังหวัดใด พร้อมแสดงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งหมดต้องระบุเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน เป็นต้น”
ด้าน สุธาสินี มาวิโรจน์ ผู้บริหารสาวเก่งแห่ง China Market Trip กล่าวถึง ภาพรวมตลาดจีนในเวลานี้ทุกอย่างจะเป็นออนไลน์หมด มีการใช้ระบบเอไอ(AI) ระบบการสื่อสารมาใช้ เจริญกว่าไทยมาก ถ้ามีโอกาสไปจีน อาจจะพบว่ามีสินค้าอยู่หน้าร้านจริง แต่ร้านค้าเหล่านี้รับ ออเดอร์ผ่านทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าเป็นยุค 5G ไปแล้วด้วยซ้ำ เวลาซื้อของจะใช้คิวอาร์โค้ดกันหมด คนจีนไม่พกเงินสดเลย
สำหรับเทคนิคในการเลือกสินค้าจีนนั้น สุธาสินีให้แนวทางที่น่าสนใจว่า “คนไทยจะชอบตามเทรนด์สินค้าที่กำลังฮิต กำลังดัง แล้วก็แห่กันไปซื้อจากจีนมาขาย ซึ่งที่จริงแล้วการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องมีสินค้าที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ หรือเลียนแบบได้ยากมาก ดังนั้นสินค้าที่จะนำเข้ามาขาย อาจจะต้องมีการจัดทำแพคเกจให้แตกต่างจากสินค้าที่มีรูปแบบเดียวกัน ต้องมีเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้านั้น ไม่ว่าจะนำมาขายที่หน้าร้าน หรือออนไลน์ ขายปลีก หรือขายส่ง ไม่เช่นนั้น ถ้าสินค้ามีรูปแบบที่เหมือนกันหมด ก็มาตีตลาดกันเอง ลดราคาแข่งกัน สุดท้ายคนที่ตายก็คือคนขาย”
นอกจากนี้ สุธาสินี ยังชี้เป้าถึงวิธีการเลือกคู่ค้าจีนเพื่อให้ประสบความสำเร็จไม่ถูกหลอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าสินค้านั้นมีคุณภาพหรือไม่ต้องไปตรวจสอบด้วยตัวเอง เหมือนคำพูดที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ป้องกันการถูกหลอกขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีอยู่เยอะมาก
“หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจที่มีคู่ค้าเป็นคนจีน อยู่ที่คนทำธุรกิจ เพราะไม่ว่าคู่ค้าจะเป็นใคร ถ้าคุณมุ่งมั่นจริง มีความละเอียด คุณก็จะได้คู่ค้าที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ละเอียด ไม่จด ไม่ถ่ายรูป ไม่ดูบิลที่คุณสั่ง มันจะผิดพลาด ทุกอย่างมันเริ่มจากตัวคุณ ถ้าคุณมุ่งมั่นมากพอ คุณจะพบกับซัพพลายเออร์ที่ตรงกับที่คุณต้องการ แต่ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นน้อย ไม่ขยันเสาะหาสินค้า หรือล็อตแรกขายของไม่ได้ คุณก็ถอดใจก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ”
ปิดท้ายด้วย เมย์-ภัสส์ศา ปาลิไชยวัฒน์ Sale Marketing Manager บริษัท ทีซีเอที เผยทริคสั่งซื้อสินค้าจีนด้วยตัวเอง ไม่ต้องรู้ภาษาจีน ก็ซื้อของได้ราคาถูก และไม่ถูกโกงว่า ปัญหาหลักของผู้ประกอบการไทยในการซื้อของจากจีนคือ ไม่รู้ภาษาจีน ทำให้บางครั้งได้สินค้าไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ ไม่รู้วิธีดูความน่าเชื่อถือของร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มสั่งซื้อของออนไลน์นั้นๆ และไม่รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาในกรณีสั่งซื้อของผิดต้องทำอย่างไร
“หลักพื้นฐานของการสั่งซื้อของให้คุ้ม คือ เปรียบเทียบทั้งคุณภาพและราคา ในสินค้าที่เหมือนๆ กัน โดยเปรียบเทียบจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ ร้าน เพราะในร้านค้าออนไลน์การดูรูปสินค้าแทบจะเหมือนกัน แต่คุณภาพและราคาก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องสำรวจวัตถุประสงค์ในการซื้อว่าต้องการซื้อไปขายต่อแค่ไหนเท่าไร เพื่อให้เราเลือกช่องทางออนไลน์ที่เหมาะกับเป้าหมายของเรา เช่น ถ้าซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่อ แนะนำแพลตฟอร์มซื้อของจีนอย่างเว็บ 1688 โดยอาจลองคุยหลังไมค์กับผู้ขายตรงก่อนสั่งจะดีกว่า เพราะจะได้ราคาต่อรองที่ต่างจากราคาหน้าเว็บ แต่ถ้าซื้อไม่มากเป็นการซื้อปลีก แนะนำเว็บเถาเป่า โดยเลือกดูจากคะแนนความน่าเชื่อถือของร้าน, การรีวิว และระยะเวลาในการเปิดให้บริการของร้านค้า แต่ถ้าต้องการสินค้าแบรนด์ แนะนำ Tmall เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เจ้าของแบรนด์มาจำหน่ายเอง สามารถการันตีคุณภาพได้”
อีกหนึ่งเทคนิคสำคัญในการซื้อของออนไลน์จีน คือ ยอมเสียค่าโง่ในการซื้อครั้งแรก ยอมสั่งซื้อมาน้อยๆ ทดลองก่อนในครั้งแรก เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพและราคา ให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์มากที่สุด ถ้ายังไม่ชัวร์ให้พิจารณาความน่าเชื่อถือของร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นๆ ประกอบ ซึ่งแทบทุกเว็บสั่งซื้อออนไลน์ของจีนจะมีการให้คะแนนร้านค้าอยู่แล้วและเชื่อถือได้ เพราะในเมืองจีนการได้มาซึ่งคะแนนความน่าเชื่อถือไม่ง่าย ทำให้ร้านค้าที่มีคะแนนเหล่านี้อยู่แล้วจะพยายามรักษามาตรฐานไว้อย่างดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภัสส์ศา เสริมด้วยว่าถ้าไม่อยากปวดหัว แนะนำให้ใช้คนกลางมาช่วยประสานในการสั่งซื้อ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเอง แต่ถ้าสั่งซื้อของเป็นจำนวนมากๆ ขั้นขึ้นคอนเทนเนอร์ แนะนำให้ลองไปดูสินค้าจริงสักครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิต และลดความเสี่ยงไปในตัว
เห็นโอกาสการค้ากับจีนแล้ว ผู้ประกอบการที่ไม่อยากปล่อยผ่าน อยากก้าวไปพิชิตเป้าหมายด้วยความมั่นใจ คว้าโอกาสใกล้ตัวก่อนด้วยการติดอาวุธทางความคิด ในงานสัมมนาคุณภาพที่รวมพล 8 กูรูด้านการตลาด มาเผยหลากหลายเทคนิคและกลเม็ดที่จะปักธงไทยในตลาดจีนให้อยู่หมัด
พบกับสุดยอดสัมมนาด้านการขายและทำการตลาดออนไลน์ ในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (ประเทศไทย) “The 9th China ASEAN (Thailand) Commodity Fair 2019 & 10th Guangdong (Thailand) Products show 2019” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า CACF & Guangdong Product Show ครั้งที่ 10 ที่จะขนกองทัพสินค้าคุณภาพจากจีนมาจัดแสดงจากผู้ผลิตตัวจริงกว่า 350 บริษัท ส่งตรงจากจีนมาถึงเมืองไทย เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.chinaproductshow.com