Influencers Marketing x Social Commerce อาวุธทรงพลังแห่งยุค
ทุก 1 นาที บนโลกออนไลน์จีน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ? Baidu มียอดเสิร์ชหาข้อมูลกว่า 4.1 ล้านครั้ง แซงหน้า Google ทั่วโลกมียอดค้นหา 3.5 ล้านครั้ง Weibo มียอดการใช้งานกว่า 1.6 ล้านครั้ง สูงกว่า Twitter ที่ทั่วโลกมียอดใช้งานอยู่ที่ 4 แสน บน WeChat มีการโพสต์เนื้อหาใหม่ๆ 486 บทความ ขณะที่ Alipay มียอดจับจ่ายใช้สอยสะพัดกว่า 15 ล้านหยวน ฯลฯ


หากต้องการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน เครื่องมือที่ทรงพลังในยุคนี้ จึงหนีไม่พ้น “ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง”
อะไรคือเทรนด์ที่น่าสนใจในปีนี้ อยากทำตลาดออนไลน์ในจีน ต้องรู้อะไรบ้าง ? มาฟังคำแนะนำจาก ชฎากร ธนสุวรรณเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่ทำตลาดในจีนให้กับลูกค้าบริษัทชั้นนำ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย , อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์,เนสท์เล่ ฯลฯ รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพอีกมากมาย
- “จีน” ประเทศเดียว..แต่มีหลายตลาด
ด้วยขนาดประเทศที่กว้างใหญ่และจำนวนประชากรมหาศาล กลยุทธ์การทำตลาดในจีนจึงทำแบบ“ตลาดเดียว” หรือ Single Market ไม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ซึ่งความต้องการในแต่ละตลาดแตกต่างกัน - แนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อจับจ่ายใช้สอย
ปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดจับจ่ายใช้สอยของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในจีนมีมูลค่าสูงเกือบ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมดในจีน - Social Shopping เทรนด์แห่งอนาคต
แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนจะทรงพลัง แต่เทรนด์การชอปปิงบนโลกโซเชียลกำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจากจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนที่ติดอันดับโลกแล้ว จากสถิติยังพบว่า 79%ของนักช้อปชาวจีนมีการทำการบ้านก่อนการตัดสินใจซื้อ ทั้งดูรีวิว อ่านคอมเมนต์จากผู้ใช้จริง โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ - อยากโกยเงินหยวน ต้องสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด
ผู้บริโภคชาวจีนที่ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพที่มั่นใจได้ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงบนโลกออนไลน์จึงช่วยในการเข้าถึงผู้บริโภคจีนในวงกว้าง ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในออฟไลน์ - รูปแบบค้าปลีกแบบ Omni-channel มาแรง
หลายๆสินค้าและบริการในจีนได้ก้าวสู่การทำการค้าในรูปแบบ Omni-channel ที่มีการผสานทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือที่เรียกกันว่า O2O (Online to Offline) เพื่อให้การชอปปิงเกิดขึ้นได้แบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ออนไลน์ แม้แต่บริการซักผ้า ล้างรถ และอีกหลายสินค้าและบริการในรูปแบบ O2O จึงเติบโตอย่างมากในจีน




2 เทรนด์การตลาดดิจิทัลมาแรง
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์การตลาดในจีน ซีอีโอ AVG Thailand วิเคราะห์เทรนด์ดิจิตัลมาร์เก็ตติ้งในจีนปี 2562 ว่า 2 เครื่องมือการตลาดที่มาแรง คือ Influencers Marketing และ Social Commerce การทำตลาดผ่าน Influencers โดยใช้เหล่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ เช่น ซูเปอร์สตาร์ เน็ตไอดอล บล็อกเกอร์ ฯลฯ มาช่วยโปรโมทยอดขาย ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการทำการตลาดในจีน
จากข้อมูลวิจัยของ Frost & Sullivan พบว่า ยอดขายที่เกิดจาก Influencers ในจีน ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 32.9 พันล้านหยวน และคาดว่าจะสร้างการเติบโตต่อเนื่องถึง 40.4 % ในอีก 5ปีข้างหน้า นอกจากนี้ 80% ของแฟนคลับที่ติดตาม Influencers ล้วนเป็นกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียมหรือคนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1981-1996 (อายุ 23-38 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศจีน
เหตุผลที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความเชื่อถือ Influencers ค่อนข้างสูง เพราะโลกออนไลน์ในแต่ละวันมีข้อมูลมหาศาล คำบอกเล่าจากแบรนด์หรือแม้แต่เพื่อนจึงไม่น่าเชื่อถือเท่ากับ Influencers ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเพราะแต่ละคนใช้เวลายาวนานในการสร้างชื่อเสียง ประกอบกับข้อกฏหมายในจีนค่อนข้างแรง ทำให้ Influencers ส่วนใหญ่ไม่กล้าหลอกลวง
ปัจจุบัน Influencers ในจีนมีมากถึง 2-3 ล้านคน และมีพัฒนาการมาเป็นสิบปี มีทั้งกลุ่มที่เป็นดารา บรรดาคนดัง และคนทั่วไป โดยกลุ่มสินค้าที่มี Influencers มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มบิวตี้ 30% รองลงมา คือ กลุ่มแฟชั่น 15% ,อาหารและขนม 10%
จากอิทธิพลของ Influencers Marketing ทำให้เกิดอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ขึ้นตามมา นั่นคือ Social Commerce ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก Influencer marketing สร้างความต้องการให้กับสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อลิงค์ไปสู่การปิดการขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
ตัวอย่างเช่น Becky Li แฟชั่นบล็อกเกอร์ชื่อดังในจีนที่โพสต์คอนเทนต์ปลุกกระแสเทรนด์ “สีฟ้า”บนโซเชียลมีเดีย ก่อนที่แบรนด์รถยนต์ MINI ของลูกค้าจะออกรถรุ่นลิมิเต็ดสีฟ้า จนสามารถทำยอดขายได้ถล่มทลาย 100 คัน ภายในเวลาเพียง 5 นาที
ในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์ Social Commerce ยังมีการเติบโตมากขึ้นบน WeChat แพลตฟอร์มยอดนิยมในจีนที่มีผู้ใช้งาน 1,040 ล้านบัญชี โดยแบรนด์ต่างๆ เริ่มหันมาเปิด Official Account มากขึ้นเพื่อเปิดหน้าร้านบน WeChat พร้อมเชื่อมต่อลิงค์ยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
สินค้าที่ขายดีบน Social Commerce ส่วนใหญ่ราคาไม่สูงมากนัก อยู่ที่ประมาณ 200 หยวน หรือ 1,000 บาท เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น ของกินของใช้ในชีวิตประจำวันที่เห็น Influencers แนะนำแล้วอยากลอง อยากซื้อเพราะอารมณ์ โดยนอกจากกระแสที่มาจาก Influencers แล้ว ยังรวมไปถึงกลุ่มต่างๆบนโซเชียลมีเดีย เช่น WeChat Group
ซีอีโอ AVG Thailand วิเคราะห์ว่า Social Commerce จะเป็นเครื่องมือเข้ามาตอบโจทย์ผู้ซื้อและผู้ขายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ๆ มีการจับมือร่วมกันมากขึ้น เช่น อาลีบาบา ร่วมมือกับ Weibo ขณะที่ WeChat จับมือเป็นพันธมิตรกับ JD.com เพื่อสร้างระบบโฆษณาที่สามารถเจาะความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น นำประวัติการซื้อบนอีคอมเมิร์ซมาวิเคราะห์กับเพจที่ผู้บริโภคติดตามบนโซเชียลมีเดีย ส่วนรูปแบบคอนเทนต์จะเป็นวิดีโอที่มาแรง เห็นได้ชัดจากการที่ชาวจีนใช้เวลาในการดูวิดีโอเพิ่มมากขึ้น 7% ในปี 2561 นอกจากนี้ ยังมีอีกเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ การมาถึงของเทคโนโลยี 5G ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในประเทศจีน


ชฎากร ธนสุวรรณเกษม CEO AVG Thailand
สำหรับสินค้าไทยยอดนิยม จากข้อมูลในแพลตฟอร์ม Tmall และ Taobao เดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า สินค้าจากเมืองไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มสกินแคร์และเครื่องสำอาง, ผลไม้อบแห้ง และ ข้าว โดยมีมูลค่าการซื้อขายโดยรวมประมาณ 2 ล้านครั้ง/เดือน
ซีอีโอ AVG Thailand ยังแนะนำด้วยว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสทางธุรกิจในเมืองกลุ่ม “New Tier One” คือ เมืองที่มีศักยภาพการเติบโตที่ขึ้นไปอยู่กลุ่มเมืองที่เจริญแล้ว (Tier One) ในจีน รวมทั้งควรศึกษาเรื่องข้อได้เปรียบที่ได้จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีน (ACFTA) เนื่องจากในปี 2561มีสินค้าไทยทั้งหมดที่ส่งออกไปจีนเพียง 68.4% ที่ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลงนี้ ที่สำคัญ ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศจีนทันทีที่เริ่มต้นเข้าไปทำตลาด เพื่อปกป้องสิทธิของการเป็นเจ้าของแบรนด์ และเลือกช่องทางในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งให้สอดคล้องกับธุรกิจในงบประมาณที่เหมาะสมและเจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย