อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ส่งออกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 44 %ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดของไทยสู่ตลาดโลกพุ่งถึง 817 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 45 % ส่งผลให้ปัจจุบันไทยครองเป็นแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก นำหน้าฮ่องกงและมาเลเซียกว่าเท่าตัว
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในการส่งออกไปจีนและอาเซียน ซึ่ง 2 ตลาดนี้เป็นตลาดหลักสัดส่วน 79% ของการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด
ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งทุเรียนไปจีนถึง 425 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 70% ส่วนตลาดอาเซียน มีมูลค่าส่งออก 219 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้น 19%
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยในปี 2561 พบว่า การส่งออกทุเรียนไปจีน เพิ่มขึ้นถึง 41,840 %เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน
ส่วนตลาดอาเซียนอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,416 %เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่อาเซียนจะลดภาษีนำเข้าทุเรียนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ มีส่วนส่งเสริมให้การส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตเพราะช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า โดยปัจจุบันทุเรียนของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 16 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ จีน ,ฮ่องกง,ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์ ,ญี่ปุ่น ,เวียดนาม,สิงคโปร์ ,อินโดนีเซีย ,สปป.ลาว,กัมพูชา,เมียนมา,ฟิลิปปินส์,บรูไน,อินเดีย,ชิลี, และเปรู
มีเพียง 2 ประเทศ คือ มาเลเซียและเกาหลีใต้ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย แต่ได้ปรับลดอัตราภาษีลง โดยมาเลเซียเก็บที่ 5 % ขณะที่เกาหลีใต้ปรับภาษีนำเข้าลงจาก 45 เหลือ 36 %
ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7555
——————————————–