ตำนานนักเชิดสิงโตหัวใจแกร่งแห่งอำเภอเถิง เกาะเซวียนโจว

สิงโตเป็นสัตว์มงคลของจีน ตามสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ บริเวณมุมชายคา ด้านหน้าและในประตู เรามักพบว่ามีรูปปั้นสิงโตคอยเฝ้าอารักขา ด้วยภาพลักษณ์ดูองอาจน่าเกรงขามและท่าทางแตกต่างกันไป ในแถบทางตอนใต้ของจีน มีวัฒนธรรมศิลปะพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่สืบต่อกันมานับพันปี โดยนำเอากระดาษ ไม้ไผ่ ขนแกะ และผ้ามาประดิษฐ์เป็นสิงโต ทางใต้เรียกว่า “สิงโตใต้” มีการละเล่นเลียนแบบท่าทางของสิงโต จึงเรียกว่า เชิดสิงโต

การเชิดสิงโตเป็นที่นิยมมากทางตอนใต้ของจีน ทั้งในกวางตุ้ง กว่างซี ฮ่องกง มาเก๊า รวมไปถึงชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่างๆ วัฒนธรรมของสิงโตใต้มีความพิถีพิถันและให้ความสำคัญกับพิธีการมาก ในสายตาของบุคคลในวงการเชิดสิงโต หัวสิงโตมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ก่อนจะเริ่มใช้หัวใหม่ของสิงโตใต้ จะต้องทำพิธีเบิกเนตรบูชาเทพก่อน เมื่อเอ่ยถึงการเชิดสิงโต อำเภอเถิง มณฑลกว่างซี เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดของสำนักสิงโตใต้แบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปีของการเชิดสิงโตและมังกรที่อำเภอเถิง เริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้น มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับต้นกำเนิดการเชิดสิงโตในอำเภอเถิงว่า เมื่อครั้งอดีตกาลมีสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่ในภูเขา ทุกสิ้นปีจะออกมาทำลายพืชไร่การเกษตร ฆ่าคนและสัตว์ ต่อมาชาวบ้านเริ่ม

ทนไม่ไหว จึงร่วมมือกันคิดหาวิธีขับไล่สัตว์ร้ายนั้นออกไป โดยนำเอาไม้ไผ่มาผูกกันขึ้นเป็นสิงโตหลายตัว เมื่อสัตว์ประหลาดปรากฏตัว ฝูงสิงโตเหล่านั้นจะออกมาเริงระบำพร้อมกับเสียงฆ้องและกลองที่ดังกึกก้อง ทำให้สัตว์ประหลาดเกิดความหวาดกลัวหลบหนีไป ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเชื่อว่าสิงโตเป็นเครื่องรางมงคล มีพลังในการขับไล่สิ่งอัปมงคล ภูตผีปีศาจได้ และเชื่อว่าหากสิงโตมาเริงระบำอยู่ที่หน้าบ้าน จะช่วยปัดเป่าภยันตราย และเสริมสิริมงคล

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกๆปี ที่อำเภอเถิง แต่ละบ้านจะให้สิงโตมาเชิดเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ และเพื่อเป็นการต้อนรับการมาเยือนสัตว์มงคลอย่างสิงโต แต่ละบ้านจะนำอั่งเปามาห้อยไว้ที่ประตูหน้าบ้าน และเมื่อสิงโตเชิดเสร็จก็จะมาคาบอั่งเปาไป ประเพณีการเชิดสิงโตได้กลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ของคนพื้นเมืองในอำเภอเถิง ในปี 2547 เติ้ง ปินกวง และ เติ้ง จิ้งอัน ผู้แสดงเป็นหัวและหางสิงโต จากเกาะเซวียนโจว อำเภอเถิง มณฑลกว่างซี ได้เป็นตัวแทนคณะสิงโตจากอำเภอเถิง คว้าแชมป์ในรายการ Malaysia National Lion Dance และได้รับสมญานามว่า “ราชสีห์เเห่งบูรพา”

15 ปีผ่านไป ชื่อของคณะเชิดสิงโตจากอำเภอเถิง ซึ่งมีเติ้ง ปินกวงเป็นแกนนำหลัก ได้กลับมาเป็นที่จับตามองในสังคมอีกครั้ง เมื่อเติ้ง ปินกวง หัวหน้าครูฝึกจากคณะปี่หลินถาง พร้อมด้วย ถาง จ้ายเผิง, เจียง หลงพาน, เติ้ง จื๋อหลุน, ข่ง เสียงเจีย และข่ง เหยียนคุน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเชิดสิงโตจากอำเภอเถิง ได้นำนักแสดงหลายร้อยชีวิตไปแสดงในโชว์ที่มีชื่อว่า “สิงโตร้อยตัวอวยชัยในวันปีใหม่” ซึ่งเป็นไฮไลท์หลักในรายการ CCTV New Year’s Gala 2019 การแสดงบนเวทีใช้เวลาแค่ 3 นาที แต่กับชีวิตจริงที่อยู่เบื้องหลัง ต้องใช้เวลานับ 10 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ในระหว่างการฝึกซ้อมเชิดสิงโต นักแสดงเกือบทุกคนเคยได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะเอวและข้อเข่าที่เกิดจากการฝึกหนัก จนอาการบาดเจ็บเรื้อรัง แต่เพราะไม่ถอดใจและยอมแพ้ จึงเป็นที่มาของความสำเร็จ

ทว่าสำหรับ เติ้ง ปินกวงแล้ว ความเจ็บปวดจากการฝึกซ้อมเชิดสิงโต ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการที่เขาตรวจพบเนื้องอกในสมอง และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ในปี 2552 แม้การผ่าตัดจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่แพทย์บอกว่า เขาจะไม่สามารถเชิดสิงโตปีนเสาดอกเหมยได้อีกต่อไป หลังออกจากโรงพยาบาล เติ้ง ปินกวง กลับมารักษาตัวที่บ้านต่ออีกสองสามเดือน เขายังอยู่ในอาการจิตตกและมักพูดเสมอว่า การเชิดสิงโตเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เขารักและถนัด หากชีวิตหลังจากนี้ เชิดสิงโตไม่ได้อีกต่อไป ก็คงไม่ต่างอะไรจากการที่ต้องสูญเสียเป้าหมายและความมุ่งมั่นในชีวิต จนกระทั่งเมื่อได้รับกำลังใจอีกครั้งจาก จง เต้าเหริน หัวหน้าคณะปี่หลินถาง ที่ได้เข้ามาพูดคุย คอยช่วยเป็นกำลังใจให้เขากลับมาเข้มแข็งและอย่าละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง ทำให้ความมั่นใจของ เติ้ง ปินกวง ค่อยๆฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

จากการฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า ด้วยความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ และเจตจำนงอันแรงกล้าของเติ้ง ปินกวง ทำให้สมรรถภาพร่างกายของเขาเริ่มฟื้นตัวกลับมา จนในที่สุดสามารถกลับไปเริ่มต้นในเส้นทางชีวิตการเชิดสิงโตและยืนอยู่บนเสาดอกเหมยอีกครั้ง โดยในปี 2558 และ 2562 เขากลับมาเฉิดฉายอยู่บนเวทีอีกครั้ง ในรายการ China’s CCTV Talent Show และ รายการ CCTV New Year’s Gala

ปัจจุบันที่ท่าเรือเซวียนโจว มีเรือเข้าเทียบท่าและออกจากเทียบในทุกวัน เยาวชนนักเชิดสิงโตเหล่านี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่พวกเขาฝึกซ้อมกันอย่างหนัก นับครั้งไม่ถ้วนที่พวกเขาขึ้นเรือออกจากฝั่งเพื่อออกไปแข่งขันยังที่ต่างๆ และนับครั้งไม่ถ้วนอีกเช่นกันที่พวกเขาได้นำเอาชื่อเสียงกลับมายังบ้านเกิดที่นี่

Your email address will not be published. Required fields are marked *