งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน “China-ASEAN Expo” (CAEXPO) เป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติที่จัดขึ้น ณ เมืองหนานหนิง ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2547 และประสบความสำเร็จในการจัดงานมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 16 แล้ว โดยการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์จีน และกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทุกระดับ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่ง“เมืองหนานหนิง”ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าระหว่างจีน-อาเซียน โดยได้รับการขนานนามว่า“ประตูสู่อาเซียน” เนื่องจากอยู่ติดกับชายแดนเวียดนาม ทั้งยังเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกับ“เส้นทางสายไหมยุคใหม่” (Belt & Road Initiative) จึงสามารถใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าของไทยและอาเซียนสู่มณฑลตอนในของจีน
ในปีนี้ งาน CAEXPO ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน” ( “Building Belt and Road Routes, Realizing Our Vision for Community of Shared Future.”) โดยจัดขึ้นพร้อมกับงานประชุมสุดยอดการค้าและการลงทุนจีน-อาเซียน หรือ CABIS (China-ASEAN Business and Investment Summit) โดยในปีนี้ มีประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศเกียรติยศ และประเทศโปแลนด์เป็นประเทศหุ้นส่วนพิเศษ พิธีเปิดงานจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน อย่างยิ่งใหญ่ โดยมี “หาน เจิ้ง” รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานเปิดงานร่วมกับผู้แทนจาก 10 รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยการร่วมกันแต่งเติมสีสันภาพความรุ่งโรจน์อันงดงามที่สื่อถึง “วิสัยทัศน์ 2030” หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน
นับเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกันที่จีนครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนมีมูลค่ากว่า 4.79 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 17% ที่อาเซียนค้ากับตลาดโลก ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 อาเซียนได้ก้าวมาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อน
• 11 ชาติร่วมกันวาด “วิสัยทัศน์ 2030”
หาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีของจีน กล่าวในพิธีเปิดงาน CAEXPO ครั้งที่ 16 โดยย้ำว่า จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเป็นอันดับแรก โดยมีการกระชับความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น อีกทั้งอาเซียนยังถือเป็นพื้นที่สำคัญของการเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุน การพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน


โอกาสนี้ ผู้แทนจากรัฐบาลจีน ยังได้เสนอให้มีการขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน 5 ด้าน ได้แก่
- เสริมสร้างการเชื่อมโยงความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เข้ากับ “แผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน” (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC 2025) ภายใต้กรอบ “วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ.2030” (China-ASEAN Strategic Partnership Vision 2030)
- การกระชับความร่วมมือด้านการค้า ทั้งการผลักดันการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน รวมถึงผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ให้บรรลุผลสำเร็จ
- ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางรถไฟ, ท่าเรือ ฯลฯ
- การขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรม ซึ่งจีนและอาเซียนได้กำหนดให้ปีค.ศ. 2020 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ เครือข่ายระบบ 5G และเมืองอัจฉริยะ
- การขยายความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว ฯลฯ


“ในโอกาสที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรี RCEP ในปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะเจรจาให้บรรลุข้อตกลง RCEP ซึ่งจะทำให้อาเซียนและจีนสามารถเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือประชากรกว่าครึ่งโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 32 ของมูลค่า GDP โลก”


รองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เคยหยิบยกสุภาษิตจีนที่ว่า ดอกไม้บานเพียงดอกเดียวยังไม่นับเป็นฤดูใบไม้ผลิ แต่ดอกไม้ร้อยดอกที่บ้านสะพรั่งพร้อมกันถึงจะเป็นฤดูใบไม้ผลิที่สวยงาม เปรียบเทียบว่า จีนจะเจริญเพียงประเทศเดียวในโลกไม่ได้ แต่ต้องพัฒนาและเจริญไปพร้อมๆกัน ต้องจับมือไปด้วยกัน ดังนั้นการดำเนินงานของไทยกับจีนและอาเซียนจึงต้องอาศัยการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ทำงานเกื้อหนุนกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน


สำหรับการจัดงาน CAEXPO ครั้งที่ 16 ในปีนี้ยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม โดยมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจำนวน 2,848 ราย เพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน มีพื้นที่การจัดแสดง 134,000 ตารางเมตร ขยายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ การค้าสินค้า ความร่วมมือด้านการลงทุน การค้าบริการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ โดยในส่วนของประเทศจีน ได้มีการจัดแสดงความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G, หุ่นยนต์ และ AI
ขณะที่ 7 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย และเมียนมา ได้เหมาฮอลล์เพื่อจัดแสดงสินค้า โดยในส่วนของ Thailand Pavilion กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้นำทัพผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม157 บูธ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าการค้าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงในส่วนเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ (City of Charm) ในปีนี้ของประเทศไทย คือ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคอีสานใต้ที่สามารถเชื่อมต่อกับกัมพูชาและลาว รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทาง R9 และ R12 เข้าสู่เขตปกครองกว่างซีจ้วง และเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมโปรโมท 10 ประเทศอาเซียน การจัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจการค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การจัดกิจกรรมประชุมความร่วมมือสาขาต่างๆ 33 ฟอรั่ม และกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนกว่า 90 เวที พร้อมแขกพิเศษเข้าร่วมกว่าหมื่นราย ขณะที่ยอดลงนามในโครงการลงทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการลงนามในโครงการสำคัญ ครอบคลุมด้าน 5G, Big Data Analytics, Industrial IoT (IIoT), การวิจัยและผลิตยา, การผลิตอัจฉริยะ และ Smart City
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ 131 บริษัทจาก 20 ประเทศที่ตั้งอยู่ตามแนวหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เข้าร่วมในโซนนิทรรศการนานาชาติ “Belt&Road” ซึ่งมีพื้นที่จัดแสดงเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนถึง 59% อาทิเช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่จัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมความงามเป็นครั้งแรก ขณะที่สินค้าจัดแสดงจากประเทศอื่นๆ อาทิ โปแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน อียิปต์ กานา รัสเซีย และศรีลังกา ก็สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของแต่ละประเทศได้ไม่แพ้กัน
• ผลักดันกลไกความร่วมมือและโครงการสำคัญเชื่อมจีน-อาเซียน
ทั้งนี้ ปี 2562 ถือเป็นปีแรกของการดำเนินการตามวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ. 2030 ซึ่งงาน CAEXPO ครั้งนี้ ได้เป็นเวทีในการผลักดันกลไกความร่วมมือที่สำคัญเพื่อเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน และเป็นจุดเชื่อมต่อของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยง“เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) โดยมี “กว่างซี” เป็นข้อต่อที่สำคัญ, การจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี (Pilot Free Trade Zone) ใน 3 เมืองสำคัญ ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน) รวมถึงนโยบายการเป็นประตูด้านการเงินสู่อาเซียน ซึ่ง “กว่างซี” สามารถเป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับ Greater Bay Area – GBA (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) นอกจากนี้ ยังมีการโปรโมทการพัฒนา “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน”(China – ASEAN Information Harbor) การพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมและความร่วมมือทางเทคโนโลยีร่วมกัน ขณะที่การจัดฟอรั่มระดับสูง 33 ฟอรั่ม มีหัวข้อที่หลากหลายทั้งฟอรั่มความร่วมมือด้านกำลังการผลิต อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร วัฒนธรรม ธุรกรรมการเงิน ท่าเรือ และการศึกษา
จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่ครอบคลุมทุกระดับและหลากหลายสาขานี้ ทำให้งาน CAEXPO ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สร้างชุมชนจีน-อาเซียนที่ตระหนักและเคารพในเรื่องการมีจุดหมายร่วมกันของภูมิภาค ตอกย้ำบทบาทการเป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมประชาคมจีน-อาเซียนทุกระดับ สร้างโอกาสเพื่อทุกคน