ล่าสุด แวดวงภาคเอกชนการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้เตรียมขยับตัวครั้งใหญ่เพื่อรีแบรนด์การท่องเที่ยวภูเก็ต ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ “Phuket Endless Discovery” สร้างภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวที่น่าค้นหาได้ไม่สิ้นสุด โดยการผลักดันของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเตรียมจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในราวกลางเดือนธ.ค.นี้




ที่มาของคอนเซ็ปต์ใหม่“Phuket Endless Discovery”เป็นแนวคิดที่ตกผลึกมาจากการทำรีเสิร์ชเพื่อสำรวจมุมมองและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีต่อภูเก็ตในแต่ละเซ็กเมนต์ ในแต่ละช่วงวัย ซึ่งพบว่าภูเก็ตมีการพัฒนาการท่องเที่ยวจนมีพร้อมทุกด้านที่จะตอบโจทย์ในทุกไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวในทุกช่วงอายุ
“ ในความเป็น Endless Discovery ของภูเก็ต ในเชิงโปรดักส์การท่องเที่ยว เรามีมากกว่า Sun Sea Sand และยังเป็น Cross Journey ที่มีหลากหลายประสบการณ์ให้ได้สัมผัส เช่น มาวิ่งมาราธอนที่ภูเก็ตพร้อมกับสัมผัสกับความงดงามของย่านเมืองเก่า , มาประชุมสัมมนาพร้อมกับได้พักผ่อนท่องเที่ยวชายหาด กินอาหารอร่อยๆ , นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมาภูเก็ตทริปเดียวตอบโจทย์ได้ทั้งบ้าน คุณพ่อไปตีกอล์ฟ คุณแม่ไปเข้าสปา ลูกไปเล่นสวนน้ำ…
เรามองว่า วันนี้ ภูเก็ตไม่ได้เป็นเพียง One Destination For One Segment แต่เป็น One Destination For all สำหรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มอายุ ซึ่งหลังจากเปิดตัวแคมเปญใหม่แล้ว จะมีการผลิตคอนเทนต์เพื่อนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายของภูเก็ตสร้างการรับรู้สู่นักท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยววิถีชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวฮันนีมูน ฯลฯ”
มูฟเมนท์ใหม่ของการรีแบรนด์ภูเก็ต มาพร้อมกับเป้าหมายปลายทางเพื่อตอบโจทย์เดียวแต่ท้าทายที่สุด นั่นคือ “ทำอย่างไร ?เศรษฐกิจภูเก็ตจึงจะเติบโตขึ้นได้จากการท่องเที่ยวโดยที่ภูเก็ตไม่ช้ำ” ภายใต้แนวคิดการสร้างยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต บอกว่า หากมองในเชิงเศรษฐกิจ ภูเก็ตมีการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ และเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วนธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ สูตรคำนวณเชิงเศรษฐศาสตร์ของการท่องเที่ยวที่ผ่านมาคือ มูลค่าการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ = จำนวนนักท่องเที่ยว x ระยะเวลาพำนักเฉลี่ย x ปริมาณการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวัน
หากต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพของการท่องเที่ยว มากกว่าปริมาณ โจทย์ที่ท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะเพิ่มระยะเวลาในการเข้ามาพักให้มากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องขยายตัวถึง 20 ล้านคน แต่จำนวนวันพักต่อคนนานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างความเชื่อมโยงกันของแหล่งท่องเที่ยว มีระบบการเดินทางที่เข้าถึง และเชื่อมต่อกับย่านการท่องเที่ยวใหม่ๆและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะไปเช็คอิน


2. การเพิ่ม Man made Tourist destination เพื่อสร้างจุดขายใหม่ๆ ดึงดูดการท่องเที่ยว เช่น Theme Park ,ศูนย์ประชุม ฯลฯ เพื่อสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว


4. ต้องมีแนวทางการบริหารจัดการเกาะอย่างยั่งยืน สร้างภูเก็ตให้เป็น happiness for all ที่ทั้งนักท่องเที่ยว และผู้อยู่อาศัยบนเกาะจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่มีความสุข และเติบโตอย่างยั่งยืน
“ โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าด้วยศักยภาพภูเก็ตวันนี้ยังพัฒนาไปได้อีกไกล แต่ถ้าจะไปต่อได้อย่างยั่งยืน ต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกาะภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตจึงได้มีการรวมตัวกันในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร.จาก 9 องค์กรเพื่อผนึกกำลังกันผลักดันภูเก็ตให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ”ภูมิกิตติ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมการเติบโตการท่องเที่ยวภูเก็ตในปี 2562 คาดว่าปีนี้ทั้งปีน่าจะมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 6-7 % โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 68-70% โดยนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก ในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนอยู่ที่ 2.5-2.6 ล้านคน ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 2.7-2.8 ล้านคน ขณะที่ช่วงพีคก่อนเหตุการณ์เรือล่ม เคยมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนสูงถึงปีละ 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโกลเด้นวีควันหยุดยาววันชาติจีนที่ผ่านมาของปีนี้ เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น เริ่มมีไฟล์ทบินตรงจากจีนที่กลับเข้ามามากขึ้น แม้จะยังไม่ได้ฟื้นกลับมาเท่าเดิม เนื่องจากต้องยอมรับว่า การท่องเที่ยวในปีนี้เผชิญกับความท้าทายของปัจจัยภายนอกที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า


“ ปีที่แล้วที่นักท่องเที่ยวจีนหายไป หลักๆมาจากปัจจัยความเชื่อมั่น แต่ปีนี้ เป็นเรื่องของผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจมากกว่าความเชื่อมั่น” ภูมิกิตติ์ วิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม แม้ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าเดิม เพราะกรุ๊ปทัวร์หายไป แต่เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT (Free Individual Travelers) ที่เดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่เคยมาเป็นกลุ่มใหญ่หรือมากับทัวร์ ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเที่ยวเองกับครอบครัว โดยไม่ผ่านบริษัททัวร์ มีทั้งแบบเดินทางมาเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆขนาด4-10 คนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี จำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาอาจไม่ต้องเยอะเท่าเดิม แต่รูปแบบและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นได้มากกว่า


ภายใต้แนวทางการทำตลาดดังกล่าว เราจึงพยายามสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายเพื่อโปรโมทผ่านแพลตฟอร์มสื่อต่างๆในเมืองจีน เปิดมุมมองใหม่ๆด้านการท่องเที่ยวให้คนจีนได้รับรู้ว่า ภูเก็ตมีมากกว่า Sun Sea Sand แต่ยังมีประสบการณ์การท่องเที่ยวอื่นๆให้ค้นหาได้หลากหลายไม่รู้จบ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเจน Z ที่มีอายุอยู่ในวัย 25 ปี และกลุ่มเจน Y ที่เป็นวัย 40 ปีขึ้นไปเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตมากขึ้น
“ โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่า ภูเก็ตยังเป็นเมืองที่น่าเที่ยวอยู่ เรายังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดที่สวยงาม มากไปกว่านั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ย่านเมืองเก่า อาหารการกิน รวมถึงความเป็นมิตรของผู้คน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแบบพี่น้องระหว่างไทยจีนที่ผูกพันกันมาหลายร้อยปี




วันนี้ แม้นักท่องเที่ยวจีนอาจจะยังไม่ฟื้นกลับมาเท่าเดิม เนื่องจากหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสงครามการค้า แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย ถึงอย่างไรภูเก็ตก็จะยังเป็นจุดหมายหนึ่งในใจที่นักท่องเที่ยวจีนยังอยากมาเที่ยว” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เชื่อมั่นเช่นนั้น