ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 14

วันที่ 20 ก.ย. 2562 ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 14 จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ชนชาติกว่างซีจ้วง นครหนานหนิง ประเทศจีน โดยมี จาง สวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน, ฟ่าน เสี่ยวลี่ คณะกรรมการสามัญประจำคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และหัวหน้ากรมประชาสัมพันธ์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง, ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมไทย, Datuk Isham Ishak เลขาธิการกระทรวงการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย, เฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการศูนย์จีน-อาเซียน รวมถึงผู้ใหญ่จากสถาบันอุดมศึกษา และบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะและวรรณกรรมเข้าร่วม

เปิดประตูสู่เวทีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-อาเซียน

เฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการศูนย์จีน-อาเซียน กล่าวว่า ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียนได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน ทั้งยังเสริมสร้างความเข้าใจและมิตรภาพที่ดีต่อกัน โดยศูนย์จีน-อาเซียนจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมควบคู่กับการท่องเที่ยว สนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และกระชับความร่วมมือกันอย่างจริงจัง

จาง สวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน เชื่อว่างานครั้งนี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ และเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม พร้อมยกระดับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ในยุคโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น ในทางกลับกัน เราจะต้องเสริมสร้างการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมระหว่างกัน พร้อมเปิดรับเส้นทางการเติบโตในอนาคตร่วมกัน

‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ กับการบูรณาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

หลายปีมานี้ การท่องเที่ยวในประเทศตามแนว ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ประเด็นหลักของฟอรั่มครั้งนี้ จึงอยู่ที่จะใช้เวทีฟอรั่มครั้งนี้ขยายความร่วมมือด้านการบูรณาการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างไร เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้น ภายใต้กรอบข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

กาน หลิน ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่า การพัฒนาของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกว่างซีมีความได้เปรียบจากกลไกและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในฐานะประตูสำคัญที่เชื่อม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ กว่างซีจะเจาะตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลอมรวมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยววัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

ภายใต้โอกาสใหม่ของ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ และการถือกำเนิดขึ้นของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน ก่วน มู่ อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าและไทย มองว่าจากนี้ไปหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของจีนและประเทศอาเซียนจะสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันมากขึ้น พร้อมกับยกระดับกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง

เส้นทางสายไหม มีบทบาทสำคัญด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ไซม่อน ฮิกกินส์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย และ สมชาย อัศวเศรณี ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ยืนยันถึงความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของเส้นทางสายไหม โดย สมชาย อัศวเศรณี กล่าวว่า ในอดีตการเดินเรือออกไปสำรวจซีกโลกตะวันตกของเจิ้งเหอ ทำให้โลกรู้จักอารยธรรมจีน ปัจจุบัน ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ได้เชื่อมโยงประเทศจีนและประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เราชาวไทยเชื่อว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ไม่เพียงแต่จะช่วยย่นระยะห่างระหว่างจีน-ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันให้คงอยู่ไปอีกยาวนานด้วย

สร้างจุดขายด้วยเอกลักษณ์ประจำชาติ

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เน้นย้ำเสมอว่า การพัฒนาและสืบทอดวัฒนธรรมนั้นจะต้องไม่ลืมรากเหง้าเดิม จะต้องนำเอาวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของประชาชน มาเป็นพลังพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ

วัฒนธรรมของแต่ละชนชาติมีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน วันเวลาอันยาวนานได้บ่มเพาะให้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมีกลิ่นอายพิเศษเฉพาะตัว เอกลักษณ์ประจำชาติที่ไม่เหมือนใครนี้ ได้สร้างจุดขายและความแปลกใหม่ให้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *