‘อาเซียน’ นำทัพสินค้าเข้าร่วมงาน CIIE ครั้งที่ 2

งาน China International Import Expo หรือ CIIE เป็นงานมหกรรมจัดแสดงสินค้านำเข้าจากนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดของจีนและของโลก ถือเป็นเวทีสำคัญในการประกาศจุดยืนการเปิดประเทศของจีน การสนับสนุนระบบการค้าโลกแบบพหุภาคี พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาการค้าเสรี สำหรับงาน CIIE ปีนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย.2562 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเสนอข้อริเริ่มความร่วมมือ 3 ประการได้แก่ 1.ร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกที่มีความร่วมมือแบบเปิดกว้าง 2.ร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกมีนวัตกรรมที่เปิดกว้าง และ 3.ร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเปิดกว้าง

นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังได้ให้คำมั่นว่า ประตูที่เปิดกว้างของประเทศจีนจะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเปิดกว้างด้านตลาด โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของการนำเข้ามากยิ่งขึ้น การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การสานต่อความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงเดินหน้าผลักดันโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างต่อเนื่อง

การจัดงาน CIIE ในปีนี้ ยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลก และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยสามารถบรรลุข้อตกลงซื้อขายคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.11 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนรัฐบาลจาก 126 ประเทศเข้าร่วม มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 910,000 รายจาก 181 ประเทศและภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ ขณะที่โซน Business Exhibition มีบริษัทต่างประเทศกว่า 3,800 แห่งเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า ด้านประเทศในอาเซียนก็ได้อาศัยโอกาสนี้ แสดงความโดดเด่นของตนเช่นเดียวกัน ติดตามได้จากรายงานพิเศษ ‘อาเซียน’ นำทัพสินค้าเข้าร่วมงาน CIIE ครั้งที่ 2 โดย China-ASEAN Panorama

อินโดนีเซีย: เก็บเกี่ยวผลประโยชน์มากมาย

ในงาน CIIE ครั้งที่ 2 อินโดนีเซียไม่เพียงแต่นำสินค้าคุณภาพมาจัดแสดงเท่านั้น แต่ยังนำชุดการแสดงระบำแบบดั้งเดิมมาร่วมโชว์ในงานด้วย นอกจากนี้ระหว่างการจัดงาน อินโดนีเซียยังได้เซ็นสัญญาซื้อขายกับบริษัท Aluminum Corporation of China Limited (CHALCO) ของจีน สั่งซื้อสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น หัวแร่ทองแดง (Copper Concentrates) แร่บอกไซต์ (Bauxite) และถ่านหิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทางสำหรับการผลิตแท่งทองแดง (Copper Ingot) อะลูมิเนียมออกไซด์ และแท่งอะลูมิเนียม (Aluminum Ingot) ผลิตภัณฑ์หลักของทางบริษัท CHALCO โดยการเซ็นสัญญาครั้งนี้เอื้อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

มาเลเซีย: ให้ทั่วโลกได้เห็นภาพที่แตกต่าง

ปีนี้ภายในพาวิลเลียนประเทศมาเลเซีย มีหลายหน่วยงานและองค์กรภาครัฐจากมาเลเซียร่วมออกบูธ อาทิ กระทรวงเกษตร และ Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC)

“งาน CIIE จะเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าทั้งของจีนและมาเลเซีย ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักสินค้าและบริการจากมาเลเซียมากขึ้น” หวัง เจี้ยนหมิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) กล่าว

มาเลเซียให้ความสำคัญกับงาน CIIE ครั้งนี้อย่างยิ่ง นอกจากการจัดแสดงผลิตภัณฑ์คุณภาพแล้ว มาเลเซียยังให้ความสำคัญกับด้านภาพลักษณ์บูธ ตำแหน่งทางการตลาด (Brand Positioning) และการเขียนคำโฆษณา (Copywriting) ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ปีนี้ในพาวิลเลียนมาเลเซียมีบูธเพิ่มมากขึ้น 10 บูธ โดยสินค้าที่นำมาจัดแสดงครอบคลุมทั้งอาหารและขนมขบเคี้ยว กาแฟ รังนก ยาสมุนไพรแบบดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียน และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็นต้น โดยสินค้าดาวเด่นได้แก่ ทุเรียน “มูซานคิง” พันธุ์เลื่องชื่อของมาเลเซีย และรังนก

เมียนมา: มุ่งหวังขยายความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

ในงาน CIIE ครั้งนี้ พาวิลเลียนประเทศเมียนมาเน้นจัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรท้องถิ่นของเมียนมาเป็นหลัก ทั้งใบชาจากเขตโกก้าง ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจากรัฐฉาน เมล็ดกาแฟจากเขตมะเกว รวมไปถึงชานมแบบเมียนมาดั้งเดิม และยำใบชา เมนูพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมียนมา นอกจากนี้ยังมีอัญมณี หยก รวมไปถึงงานหัตถกรรมซึ่งแฝงเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างเครื่องเขิน นอกจากการจัดแสดงสินค้าแล้ว ช่วงก่อนงาน CIIE เมียนมาได้จัดงานประชาสัมพันธ์การลงทุนในย่างกุ้ง โดยมีหม่อง หม่อง ซอ (Maung Maung Soe) นายกเทศบาลเมืองย่างกุ้ง แนะนำความน่าสนใจของการมาลงทุนในย่างกุ้งแก่ผู้เข้าร่วมงาน

ดร.ทัน มินห์ (Dr. Than Myint) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา กล่าวว่า งาน CIIE ดึงดูดผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้เดินทางมาเข้าร่วม เป็นเวทีรวมตัวทางเศรษฐกิจยิ่งใหญ่ระดับโลก และนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ตอนนี้จีนกำลังเดินหน้าขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับทั่วโลก ในอนาคตเศรษฐกิจจีนจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โอกาสทางความร่วมมือระหว่างจีนกับเมียนมาก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน หวังว่าประชาชนและหน่วยงานของทั้งสองประเทศจะจับมือกัน เพื่อบรรลุความร่วมมือผลประโยชน์ร่วมกัน

สิงคโปร์: แสวงหาโอกาส สร้างพันธมิตรความร่วมมือใหม่ๆ

ภายในงาน CIIIE ครั้งที่ 2 โซนการค้าบริการ อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และเทคโนโลยีสมาร์ทลิฟวิ่ง เป็น 3 โซนหลักของประเทศสิงคโปร์ปีนี้ บนพื้นที่จัดแสดง 1,600 ตารางเมตร มากขึ้นกว่าปีก่อน 12% มีบริษัทจากหลากหลายแวดวงธุรกิจของสิงคโปร์ ทั้งด้านโลจิสติกส์ การคมนาคม การเงิน และเทคโนโลยี เข้าร่วมอย่างคับคั่ง แนะนำสินค้าและบริการที่มีความหลากหลาย แปลกใหม่ มีคุณภาพและน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อภายในงาน

สหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation) ได้นำทัพผู้ประกอบการคุณภาพจากสิงคโปร์เข้าร่วมออกบูธทั้งสิ้น 84 ราย ซึ่งได้รับผลประโยชน์มากมายจากความร่วมมือจับคู่ทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ซื้อชาวจีน โดยระหว่างการจัดงานครั้งนี้บริษัทสิงคโปร์ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือ MOU กับบริษัทจีนถึง 26 ฉบับ

ไทย: ขนทัพสินค้าโชว์ศักยภาพแบบจัดเต็ม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย กล่าวว่า “จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ขณะเดียวกันยังเป็นตลาดการค้าที่สำคัญที่สุดของไทยด้วย” ในงาน CIIE ครั้งนี้ ประเทศไทยเน้นนำเสนอสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป เช่น มะม่วงและทุเรียนอบแห้ง รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในอุตสาหกรรมเบาอื่นๆ

ในบรรดาบริษัทที่ร่วมออกงานครั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ซึ่งก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2464 ถือเป็นหนึ่งในบริษัทดาวเด่นของงาน ปีนี้กลุ่มซีพีจัดแสดงบนพื้นที่ 500 ตารางเมตร นับเป็นหนึ่งในบูธกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในงาน สินค้าที่นำมาจัดแสดงครอบคลุมทั้งเนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล อาหารสำเร็จรูป รังนก ข้าวสารและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว และเครื่องปรุงรส

ในบรรดาแบรนด์ไทยดาวเด่นในงาน หนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความสนใจสูงที่สุดซึ่งได้มาร่วมจัดแสดงในงาน CIIE ครั้งแรก คือ แบรนด์ “SIAM GLITTERS 1957” ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เนคไท นาฬิกา กระเป๋าสตรี และน้ำหอม นอกจากนี้ ยังนับเป็นครั้งแรกที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้เข้าร่วมงาน CIIE ที่ประเทศจีน โดยนำช่างฝีมือจากไทยไปสาธิตการประดิษฐ์กระทง ตลอดช่วง 6 วันของการจัดงาน

ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การเข้าร่วมงาน CIIE ครั้งที่ 2 จะส่งผลดีต่อการขยายโอกาสการเข้าสู่ตลาดจีนให้กับผู้ประกอบการและสินค้าไทย อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้โอกาสทางธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ รวมไปถึงเทคโนโลยีอันล้ำหน้าและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างของเซี่ยงไฮ้ โดยงาน CIIE จะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายโอกาสทางการค้าการบริการให้กับทั้งสองประเทศ


ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ yidaiyilu.gov.cn, xinhuanet.com, chinanews.com

Your email address will not be published. Required fields are marked *