จีนลุยก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกในไทย

ในที่สุดโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ได้จัดพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ และออกแบบรถไฟความเร็วสูงของจีน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลด้านการออกแบบและการก่อสร้างโครงการ

ความสำเร็จของความร่วมมือลงทุนในประเทศที่ 3

ภายหลังจากการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านไปได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ได้กล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ระหว่างการเข้าร่วมประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยว่า จีนยินดีเชื่อมยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยด้วยแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยยึดหลักการ “ร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน” นอกจาก นี้จีนยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของความร่วมมือลงทุนในประเทศที่ 3

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของไทย ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นของความร่วมมือการลงทุนในประเทศที่ 3 ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในไทย และเป็นโครงการบูรณาการ การก่อสร้างและการลงทุนโครงการแรกของ EEC ซึ่งเป็นสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนของภาคเอกชน ซึ่งมี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือ ‘ซีพี’ (CP) เป็นหัวเรือใหญ่ ร่วมกับพันธมิตร บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ (ITD) และบริษัท ช.การช่างฯ

จากข้อมูลของ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) โครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 224,544 ล้านบาท (ประมาณ 52,416 ล้านหยวน) ระยะทาง 220 กม. โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กม./ชม. สัญญาโครงการแบ่งเป็นการก่อสร้าง 5 ปี และบริการเดินรถ 45 ปี ซึ่งเป็นสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนแบบ PPP (Public – Private – Partnership) โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนประกอบด้วย บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) 10% บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ (CP) 70% และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) ร่วมกับบริษัทอื่นๆอีก 3 แห่ง 20% ซึ่งตามข้อตกลงของความร่วมมือนั้น รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนในโครงการนี้อีกจำนวน 117,227 ล้านบาท (ประมาณ 27,364 ล้านหยวน)

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จบนความร่วมมือระหว่างไทย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอิตาลี และผมคาดหวังผลสัมฤทธิ์ของโครงการในครั้งนี้ไว้เป็นอย่างมาก” โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเชื่อม 3 สนามในไทย แต่ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมไปถึงเส้นทางรถไฟในแถบประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอนว่ารัฐบาลไทยจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการก่อสร้างโครงการ

ผลสำเร็จใหม่ของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ตามแผนที่ตั้งไว้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเป็นโครงการที่เป็นรากฐานสำคัญให้กับ EEC โดยโดยหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟบริเวณหัวเมืองต่างๆ โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยได้อีกประมาณ 100,000 ตำแหน่ง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท (ประมาณ 151,900 ล้านหยวน) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีรากฐานการพัฒนาเข้มแข็ง มีนโยบายพิเศษที่เอื้อต่อการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมเกิดใหม่จากต่างประเทศ พร้อมกับจะสร้างให้เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งแรกที่จะนำทรัพยากรบุคคล สินค้า และการเงินมารวมไว้ด้วยกัน และเพื่อให้เป็นการส่งเสริมการพัฒนาให้กับเขตการค้าเสรีและเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจีนและไทยจึงได้บรรลุฉันทามติร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเบื้องหลังของความสำเร็จในการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจีนที่อยู่ในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในแถบอาเซียน ในขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยให้บริษัทจากจีนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงการ EEC และมีส่วนในการส่งเสริมความสำเร็จของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ด้าน หลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจําประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในแผนงานที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา EEC ทั้งยังเป็นโครงการสำคัญที่จะเชื่อมยุทธศาสตร์ของ EEC เข้ากับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่างไทย-จีน ที่นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ (CP) และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาที่ยึดตามหลักการ “ร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันความร่วมมือในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงและการเชื่อมโยงในภูมิภาค”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวทางการผลักดัน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่งผลให้บริษัทจีนจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และผลจากการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรถไฟครั้งนี้ ได้นำมาสู่โอกาสการลงทุนที่มากขึ้น โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเชื่อว่า บริษัทจีนจะสามารถใช้ความได้เปรียบจากด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการผลิตระดับสูงของตน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา EEC รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้ดียิ่งขึ้น


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *