สัมพันธภาพอันดีระหว่างไทย-จีน ได้ผ่านการทดสอบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายและบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราควรใช้โอกาสที่ดีจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพื่อสร้างสรรค์อนาคตร่วมกันต่อไปอย่างไร? ติดตามได้จากมุมมอง วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน และ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน


นักธุรกิจไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าย้อนอดีตให้เห็นถึงวิถีความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีการติดต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย เมื่อครั้งชนกลุ่มน้อยชาวไทหรือเผ่าไตในสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีน เดินทางข้ามภูเขาเข้ามาอยู่ในแถบตอนเหนือของประเทศไทยเมื่อ 900 กว่าปีก่อน
จนกระทั่งมาถึงอีกยุคสำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชาวจีนจำนวนมากอพยพทางเรือจากมณฑลชายทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เช่น ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และไหหลำ เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ทั้งในแถบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง รวมถึงจังหวัดจันทบุรี ในภาคตะวันออก และแถบพื้นที่หาดใหญ่ ภาคใต้ของไทย
จากคำบอกเล่าของ“วิกรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในนักธุรกิจไทยที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนแคะหรือฮากก้า ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนท่าเรือ จ.กาญจนบุรี เมื่อ 150 กว่าปีมาแล้ว ไทยและจีนจึงมีความสัมพันธ์กันโดยเชื้อชาติมาตั้งแต่โบราณกาล และยังมีความผูกพันทางสายเลือดผ่านเชื้อสายของชาวจีนอพยพที่หลอมรวมเข้าเป็นสังคมเดียวกับคนไทยผ่านการแต่งงาน
แต่ไหนแต่ไรมา สังคมไทยยังเป็นดินแดนที่เปิดกว้างต่อการเดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและตั้งรกรากของชาวต่างชาติ ในสมัยอยุธยาช่วงหนึ่งยังเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นขุนนางรับราชการในราชสำนัก ด้วยการเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ให้เกียรติต้อนรับ และไม่มีการแบ่งแยกชนชาติ อีกทั้งไทยและจีนยังไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งใดๆที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน จึงได้เห็นปรากฏการณ์ในความเป็นจริงว่า คนไทย-จีนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก จนชาวจีนเรียกขานประเทศไทยว่า“ไท่กั๋ว”ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีความสงบสุขและเสรีภาพ จึงต่างพากันหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกราก จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีชาวจีนและเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก
ต่อมาแม้ในช่วงกระแสทางการเมืองโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้ไทยกับจีนขาดการติดต่อกันในระดับทางการอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อหมอกควันแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองเบาบางลง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นอีกครั้งเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยสมัยนั้น เดินทางเยือนจีนเป็นครั้งแรกและได้ร่วมลงนามกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ในแถลงการณ์ร่วมไทย-จีนว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนอีกครั้งหนึ่ง
กาลเวลาผ่านมา 45 ปี สัมพันธภาพไทย-จีนทุกด้านได้ขยายตัวและยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น หลังจากการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548
จากเดิมในอดีตที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เคยเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนกว่า 60% แต่ในช่วง 5-10 ปีมานี้ การค้าขายกับจีนได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นแทนที่ และกลายมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย
เช่นเดียวกับด้านการท่องเที่ยวซึ่งจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทยปีละกว่า 10 ล้านคน ส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายตัวด้านการค้าขาย และการเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม


“ ถึงแม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ต้องหยุดชะงัก แต่ธุรกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในนิคมอุตสาหกรรมอมตะของเราซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจีนเข้ามาลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำนวนกว่า 160 โรงงาน และมีจำนวนชาวจีนที่เข้ามาทำงานในนิคมฯกว่า 4,000 คน” วิกรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าว
“ 45 ปีที่ผ่านมา ด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทย-จีน ทำให้นักธุรกิจจีนมีความคุ้นเคยใกล้ชิดและความมั่นใจ จนทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และในอนาคตเชื่อว่า คนจีนน่าจะยังคงใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนและการทำงานในภูมิภาคนี้ จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน
…โจทย์ที่สำคัญ คือ เราจะใช้โอกาสเหล่านี้ให้เกิดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับจีนได้อย่างไร?”วิกรม กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า วันนี้ เราจึงต้องเปิดมุมมองใหม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับจีน จากความคิดเดิมๆแบบที่เคยมองจีนเมื่อสมัย 30-40 ปีที่แล้ว ซึ่งจีนยังเป็นประเทศ“หลังม่านไม้ไผ่” มีจีดีพีต่อหัวประชากร (GDP per Capita) เพียง 200 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี แต่หลังจากที่จีนได้ปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างจริงจังในปี 2521 ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 9% ทำให้คนจีนมีฐานะร่ำรวยขึ้น
ปัจจุบันจีดีพีต่อหัวประชากรจีนอยู่ที่ราว 10,000 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี และได้กลายมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจของโลก ในปีที่แล้วจีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (Total Trade) ราว 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแซงหน้าสูงกว่าสหรัฐกว่า 10% อีกทั้งยังเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของโลก
เมื่อปีที่แล้วก่อนวิกฤต COVID-19 มีคนจีนเดินทางออกไปเที่ยวทั่วโลกกว่า 130 ล้านคน โดยมีเม็ดเงินใช้จ่ายในการท่องเที่ยวประมาณ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่าพอๆกับจีดีพีของประเทศไทย แม้ความแตกต่างในด้านวัฒนธรรมและมารยาทสังคม จะทำให้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนถูกวิจารณ์เรื่องภาพลักษณ์พฤติกรรมและการแสดงออกในด้านลบ แต่นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ภาพลักษณ์ทั้งหมดของชาวจีน


ในมุมมองของประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ในด้านพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงมีโอกาสอีกมากที่ไทยและจีนจะร่วมมือกัน โดยใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน ทั้งทางบกซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงโครงสร้างคมนาคมทางรถไฟและถนนระหว่างจีนกับอาเซียน และทางทะเลซึ่งไทยเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก สอดรับกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีนที่มุ่งเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของ 3 ทวีป เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน
“ วิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในที่สุดก็จะจบลงตามเหตุปัจจัย ขณะที่ความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้ผ่านการทดสอบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วยกาลเวลาที่ยาวนานมาตั้งแต่โบราณกาล มีความใกล้ชิดกันทั้งทางเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษไม่เหมือนกับประเทศใด
เราจึงควรรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันที่ไม่ได้มาโดยง่ายๆนี้ และใช้โอกาสจากประวัติศาสตร์ 900 ปีให้เป็นประโยชน์ บวกด้วยจุดแข็งที่ตั้งภูมิศาสตร์ของไทย และกรอบความร่วมมืออาเซียน+6( จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)เพื่อเป็นสะพานสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ก้าวสู่อนาคตที่เปิดกว้างร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” วิกรม ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าว
นับเป็นเวลา 19 ปีมาแล้วที่“สภาธุรกิจไทย-จีน”ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 โดยความร่วมมือของ“กกร.”คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) กับ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Council for The Promotion of International Trade-CCPIT)เพื่อเชื่อมโยงการติดต่อระหว่างภาคเอกชนด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนโดยตรง ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลทั้งสองประเทศ
สภาธุรกิจไทย-จีนจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักได้แก่ 1.ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีน 2.ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในประเทศที่สาม เช่น กลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน 3.ส่งเสริมการขยายความร่วมมือของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองประเทศ 4.ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูล
วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวว่า การทำงานระหว่างสภาธุรกิจไทย-จีน กับ CCPIT ทำให้มีการเดินหน้าบทบาทสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับจีนและการจัดกิจกรรมระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายมุ่งสร้างเวทีสำหรับการเชื่อมโยงการลงทุนไทย-จีน และเวทีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยและจีนได้พบปะแลกเปลี่ยนเพื่อสร้าง Networking ในการขยายลู่ทางการค้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ สภาธุรกิจไทย-จีน ยังได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าการลงทุนและแก้ปัญหาให้กับนักธุรกิจไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผลงานสำคัญด้านส่งเสริมการค้าที่ผ่านมา เช่น การประชุมผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการเจรจาลดภาษีนำเข้าผลไม้ตามข้อตกลงเหลือร้อยละ 0

