ดูจีน..ย้อนมองไทย แก้จนอย่างไรให้ตรงจุด

 

ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก ที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้สะท้อนมุมมองถึงแนวทางและความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน ซึ่งมาจาก 5 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  1. รัฐบาลโดยการนำของ ‘ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง’ มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) และกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความยากจน หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความเอาจริงเอาจังของผู้นำ และการให้ความสำคัญของรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งระบบจนบรรลุไปสู่เป้าหมาย
  2. ระบอบสังคมนิยมแบบจีนที่มีลักษณะการรับฟังความคิดเห็นจากล่างขึ้นบน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจนไปได้ทั้งระบบ
  3. มีนโยบายเจาะเข้าถึงระดับบุคคลและครัวเรือน เพื่อพุ่งเป้าไปที่การวิเคราะห์ปัญหาของครัวเรือนที่ยากจน มีการสร้างระบบกลไก โดยให้หน่วยงานของแต่ละหน่วยงานจับคู่กับพื้นที่เป้าหมาย และมีการส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลนับล้านคนลงไปวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าไปตรวจสอบและคุยตัวต่อตัวกับคนยากจน จนได้ข้อมูลกว่า 89 ล้านแฟ้ม/โครงการ ทำให้สามารถช่วยเหลือคนยากจนได้อย่างตรงจุด เพราะมาจากความต้องการที่แท้จริงของคนยากจน
  4. มีการให้เงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนครัวเรือนละ 2 พันหยวน รัฐบาลเข้าไปช่วยดูแลผู้ยากไร้ให้มีหลักประกันขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง
  5. การเชื่อมโยงตลาดเพื่อรองรับผลผลิตจากระดับครัวเรือน และกลุ่มวิสาหกิจระดับเอสเอ็มอีในชุมชน โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงกับตลาดออนไลน์ และผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น อาลีบาบา

8 แนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน 

  1. นำอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยสินค้าเกษตร/ภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น ท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าสินค้า หาช่องทางระบายสินค้า ใช้อีคอมเมิร์ซชักนำและให้การช่วยเหลือทางการตลาดจนมีช่องทางธุรกิจ สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ยากจนด้วยสินเชื่อแบบไมโครเครดิต (micro – credit) ที่ไม่ร้องขอหลักประกัน ระยะ 3 ปี โดยรัฐบาลได้ปล่อยสินเชื่อมากกว่า 5.8 แสนล้านหยวน (ราว 2.9 ล้านล้านบาท) แก่ครัวเรือนที่จัดอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนราวครึ่งหนึ่ง หมายถึงผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,800 หยวน/เดือน (ราว 14,000 บาท)
  2. จัดตั้งฐานอุตสาหกรรมมากกว่า 1 แสนแห่ง ในพื้นที่ที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน ครอบคลุมครัวเรือนที่มีฐานะยากจนร้อยละ 92 กระตุ้นการจ้างงาน และฝึกให้คนยากจนหางานทำ จะเพิ่มทักษะวิชาชีพและรายได้ หลิว หย่งฟู่ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันความยากจนของประเทศ กล่าวว่า มีวิสาหกิจกว่า 40,000 แห่งจับคู่กับหมู่บ้านยากจนกว่า 30,000 แห่ง เป็นความพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและชะลอการอพยพของเยาวชนที่มีทักษะพรสวรรรค์
  3. โยกย้ายประชากรให้มีที่อยู่ใหม่และจ่ายเงินชดเชย ลงทุนพื้นที่ให้สร้างคนสร้างงาน 5 ล้านคน
  4. ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต สาธารณูปโภค ถนน น้ำ ไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชนแข็งแรง และเชื่อมโยงเมืองต่างๆ
  5. ช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ชนบทห่างไกล อัดฉีดเงินและอาสาสมัครจำนวนมากไปช่วยสอนหนังสือ
  6. ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
  7. ช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม
  8. เงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้

จากบทเรียนความสำเร็จของจีน เมื่อหันย้อนกลับมามองประเทศไทย ในมุมมองของ อ.สมพันธ์ ความแตกต่างอย่างแรก คือ ภาครัฐของไทยยังขาดเจตจำนงที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความยากจนที่ลงลึกถึงระดับครัวเรือนแบบพุ่งเป้า นโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ยังคงเป็นในลักษณะประชานิยมที่เน้นการแจกเงิน เหมือนการให้ปลาที่ให้ไปเท่าไหร่ก็หมด แตกต่างจากจีนที่เน้นให้เบ็ด ไม่ได้ให้ปลา ทำให้คนสามารถทำมาหากินพึ่งพาตนเองได้

รัฐบาลจีนแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งในเชิงปัจเจกบุคคล ครัวเรือนและชุมชน บวกกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้แก่ชุมชนที่อยู่ใต้เส้นวัดความยากจนทั้งประเทศ การแก้ไขปัญหาจึงเป็นไปทั้งสองระดับควบคู่กัน โดยการนำของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มีวิสัยทัศน์ ความคิด นโยบาย แนวทางการปฏิบัติที่ลงลึกถึงการวิเคราะห์รายครัวเรือนและชุมชน ความเชื่อมโยงกับภาครัฐทุกระดับและภาคธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพไปช่วยเหลือและสนับสนุนในจุดที่คนยากจนและชุมชนทำไม่ได้ ทั้งการผลิต แปรรูป ตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบขนส่งและอินเตอร์เน็ต

ประเทศจีนมีระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน ในทฤษฎีสังคมนิยม ได้เน้นหนักการขจัดการขูดรีดทางชนชั้นจากนายทุน รัฐบาลจีนส่งเสริมคน/ครัวเรือนและชุมชนให้ลุกขึ้นมาประกอบการเอง ไม่ผ่านนายทุนจึงสามารถพึ่งตนเองขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้คนยากจนมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง จากเดิมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ รัฐบาลจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของคนยากจนและกรรมสิทธิ์ร่วมของกลุ่ม/ชุมชน โดยใครทำมากได้มาก จึงทำให้คนยากจนลืมตาอ้าปากได้และอยู่เหนือเส้นใต้วัดความยากจนขึ้นมาได้ โดยมีรายได้ที่เป็นธรรมจากภาคธุรกิจ

มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตรที่สมดุล มีการสนับสนุนกันเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทางธุรกิจที่มีทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจลงไปช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจของชุมชนให้สามารถขายสินค้าได้ทางอินเตอร์เน็ตและมีระบบขนส่งที่เกื้อหนุนสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค

จากการศึกษานโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ผ่านการนำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ดังนี้

  1. รัฐบาลไทยต้องมีวิสัยทัศน์ ความคิด นโยบายและประกาศให้ชัดเจนในการแก้จนตรงจุดอย่างจริงจัง ประเทศไทยมีคนยากจนที่ต่ำกว่าเส้นใต้ความยากจนไม่ถึง 10 ล้านคน จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากในการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป เพียงแต่รัฐบาลไทย พรรคการเมือง หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจเอกชนต้องมีทิศทางเรื่องนี้อย่างจริงจัง
  2. จัดตั้ง “สำนักงานบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจน” อาจเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือจะเป็นระดับพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติ มีงบประมาณประจำปีที่มีประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความโปร่งใส
  3. ด้านความรู้ รัฐบาลไทยควรมีมาตรการให้หน่วยงานรัฐในระดับพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจจับคู่คน/ครัวเรือนและชุมชนที่อยู่ใต้เส้นวัดความยากจน ร่วมกันศึกษาข้อมูลที่แท้จริงของคนยากจน/ครัวเรือนและชุมชนให้ลึกซึ้งจริงจัง จัดทำแฟ้มข้อมูลและโครงการที่แก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง จึงจะเป็นการใช้ความรู้ที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้
  4. หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจต่างๆสนับสนุนกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ สมทบงบประมาณในแก้จนตรงจุดด้วย, รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นให้คนยากจน สร้างบ้านใหม่ ปรับปรุงบ้านพัก ห้องส้วมให้ครัวเรือนยากจน, สนับสนุนทุนคนยากจน/ครัวเรือนละ 10,000 บาท โดยอาจจะทำเป็นกองทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงปัจเจกบุคคลและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ใต้เส้นวัดความยากจน เพื่อนำไปสร้างอาชีพและรายได้เลี้ยงดูครอบครัว, รัฐบาลสนับสนุนการรวมกลุ่มผลิต แปรรูป การตลาด การบริหารจัดการและให้ภาคธุรกิจ ส่งคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญลงไปช่วยเหลือคน/ครัวเรือนและชุมชนยากจนโดยตรง
  5. รัฐบาลต้องมีการอบรมฝึกปฏิบัติใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์เพื่อการค้าขายและการตลาด, จัดระบบการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค, จัดให้มีอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ความเร็วสูงช่วยชุมชนยากจน ฯลฯ

“ สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ ผู้นำโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ต้องมีเจตจำนงและนโยบายที่ชัดเจน ในการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าที่ลงลึกถึงระดับครัวเรือน โดยเน้นการทำงานแบบเชิงรุก ไม่ใช่รอให้คนจนเดินเข้ามาลงทะเบียน แต่ต้องรุกลงพื้นที่ไปในทุกหมู่บ้าน ส่งบัณฑิตจบใหม่หรือใช้กลไกส่วนท้องถิ่นส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุย เก็บข้อมูล หากเราสามารถวิเคราะห์และเจาะลึกการแก้ไขปัญหาไปที่ครัวเรือนได้ จัดสรรกิจกรรมอาชีพให้ตรงกับตามศักยภาพของแต่ละคน ก็สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้

ในมุมมองของ อ.สมพันธ์ ประเทศไทยมีกลไกของรัฐและท้องถิ่นจำนวนมากพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ในเวลา 5-10 ปี จากงบประมาณที่มีอยู่ และสามารถทำได้ทันที ถ้ามีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เริ่มจากการเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาความยากจนลงลึกถึงระดับครัวเรือน นำร่องชุมชนละ10 ครัวเรือนก่อน จาก 8 หมื่นหมู่บ้าน รวมเป็น 8 แสนครัวเรือน ครัวเรือนหนึ่งมี 3 คน ปีหนึ่งก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ 2.4 ล้านคน ซึ่งไม่ควรแก้ไขปัญหาด้วยการแจกเงินให้ แต่ควรทำในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนเงินทุนหมุนเวียน ให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ปีหนึ่งลงทุน 8 หมื่นล้านบาท ให้เงินทุนหมุนเวียน ดอกเบี้ยต่ำ 3 ปี เพื่อให้เขานำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพเพื่อตั้งตัวได้ และทยอยคืนเงินที่ยืมไป

“ในช่วง 3 ปีรัฐบาลลงทุน 2.4 แสนล้านบาท เงินทุนก็ยังคงหมุนเวียนกลับมาช่วยคนยากจนให้มีอาชีพได้อีก 2.4 ล้านคน ช่วยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปีละ 8 แสนครัวเรือน 10 ปีก็แก้ปัญหาได้จบแล้ว แต่ที่ผ่านมา ระบบพรรคการเมืองของเรา มักจะมองแค่นโยบายระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน ไม่ได้มองแบบระยะยาว ทำให้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ” อ.สมพันธ์ กล่าว

หัวใจสำคัญของการแก้จนอย่างไรให้ตรงจุด จึงอยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจและการมีนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาล รวมถึงการลงมือปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง มีการเชื่อมโยงการดำเนินงานตั้งแต่ระดับมหภาค ไปจนถึงจุลภาคระดับครัวเรือนและบุคคล โดยสังคมทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *