ถอดบทเรียนจีนแก้จนสำเร็จได้อย่างไร ?

จากประเทศที่เคยยากจนข้นแค้น..ในช่วง 4 ทศวรรษของการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ประเทศจีนได้สร้างสถิติโลกใหม่ด้วยการช่วยให้ผู้คนมากกว่า 700 ล้านคน หลุดพ้นจากเกณฑ์ความยากจน โดยปัจจุบันจีนยังหลงเหลือคนจนอีกเพียง 5 ล้านกว่าคน ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าจะยกระดับให้หลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2020

สหประชาชาติยกย่องให้จีนประสบความสำเร็จในการลดความยากจน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการแก้ปัญหาความยากจนประเทศจีนทำได้อย่างไร?

• พัฒนาการการแก้ปัญหาความยากจนของจีน

รัฐบาลจีนทุกยุคได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยประเทศจีนเริ่มเดินหน้าลดความยากจนด้วยวิธีการช่วยเหลือประชาชนยากจนในรูปแบบสวัสดิการที่เท่าเทียมกันระหว่างปี 1949-1977 โดยภาครัฐให้ความช่วยเหลือ เช่น การปฏิรูประบบการจัดสรรที่ดินในชนบท แจกอุปกรณ์เครื่องมือทำการเกษตร

นับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา การลดความยากจนของจีนสามารถแบ่งเป็น 4 ช่วงที่สำคัญ ได้แก่

. ช่วงที่ 1 (ปี 1979-1985) เป็นการลดความยากจนจากการปฏิรูประบบ อนุญาตชาวนาทำสัญญาเช่าที่ดินของรัฐ ส่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลเพื่อเป็นค่าเช่าที่ดิน ส่วนที่เหลือสามารถจัดการเองตามความต้องการ

. ช่วงที่ 2 (ปี 1986-2007) เป็นการลดความยากจนด้วยการพัฒนา จัดตั้งคณะกรรมการลดความยากจนระดับส่วนกลางและมณฑล กำหนดแนวทางการลดความยากจนโดยการอาศัยทรัพยากรท้องถิ่น พัฒนาการผลิตด้วยตัวเอง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนยากจนและศักยภาพโดยรวม

. ช่วงที่ 3 (ปี 2008-2012) เป็นการใช้ 2 ระบบเพื่อลดความยากจน คือ ระบบการพัฒนาและระบบความช่วยเหลือเพื่อลดความยากจน แบ่งเขตพื้นที่ยากจนของประเทศให้เป็น 11 เขตพิเศษเพื่อระดมกำลังลดความยากจน ในขณะเดียวกัน กำหนดมาตรการเพื่อรับรองให้ครอบครัวที่ยากจนมีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานและการมีบ้านพักอาศัย เป็นต้น

. ช่วงที่ 4 (ปี 2013 – ปัจจุบัน) เป็นการลดความยากจนอย่างตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation)

• ไขรหัส 4 กลยุทธ์ความสำเร็จ นโยบายแก้จนตรงจุดของ “สี จิ้นผิง”

ดร.หวัง เต้าหมิง อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติจีน-อาเซียน (CAIC) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนักวิจัย ศูนย์บริการ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีนเริ่มตั้งแต่ปี 2013 ในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยมีเป้าหมายการลดความยากจนให้ครอบคลุมทุกครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน สร้างกลไกลดความยากจนตรงจุดในระยะยาว ด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์การพิสูจน์ ช่วยเหลือ บริหารจัดการ และการตรวจสอบอย่างตรงจุด

  1. การช่วยเหลือเพื่อลดความยากจนอย่างตรงจุด
    เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกในสาเหตุที่ทำให้ยากจนของครอบครัวและหมู่บ้านที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว หลังจากนั้น กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการช่วยเหลือลดความยากจนรายครอบครัวและรายหมู่บ้าน พร้อมระดมกำลังดำเนินการตามแผน โดยวางระบบการขับเคลื่อนงานตั้งแต่รัฐบาลส่วนกลาง ลงมาถึงระดับเมืองและมณฑล มีคณะทำงานประจำหมู่บ้าน ตลอดจนมีระบบการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ลดความยากจนที่มีศักยภาพ
    มีการสร้างแผนลดความยากจน และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เจ้าหน้าที่ที่มีผลงานดีเด่น จะมีสิทธิ์ได้รับโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคต
    นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถช่วยลดความยากจน โดยมีโครงการหลักที่รัฐบาลส่วนกลางกำหนดเป็นแนวทาง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการศึกษา โครงการสินเชื่อขนาดเล็ก และโครงการอพยพเพื่อความยากจน
  2. การบริหารจัดการอย่างตรงจุด
    เป็นการติดตามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือพ้นจากความยากจนอย่างใกล้ชิด สร้างเครือข่ายฐานข้อมูลการลดความยากจนระดับประเทศ เพื่อแบ่งปันข้อมูลความต้องการ พร้อมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจนในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยในการประสานงานหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงช่วยให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงจุดได้มากยิ่งขึ้น
  3. การตรวจสอบอย่างตรงจุด
    เป็นการตรวจสอบเชิงปริมาณในผลการทำงาน ตั้งแต่การพิสูจน์ครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน การช่วยเหลือและบริหารจัดการลดความยากจนอย่างตรงจุด เพื่อรับรองการปฏิบัติงานในทุกระดับ โดยมีการตรวจสอบประเมินผลงานการทำงานลดความยากจนของผู้บริหารรัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑลในทุกปีซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ KPI ในการประเมินผู้บริหารด้วย

อ.หวัง กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่จีนได้ใช้นโยบายใหม่ “แก้ปัญหาความยากจนแบบตรงจุด” ทำให้จีนยิ่งพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว สามารถลดคนจนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2020 จีนตั้งเป้าขจัดความยากจนในประเทศให้หมดไป ซึ่งในส่วนเป้าหมายการแก้ไขความเดือดร้อนในกรอบ “2ไม่กังวล 3 หลักประกัน” ได้แก่ ไม่กังวลเรื่องปากท้องและเครื่องนุ่งห่ม และ 3หลักประกัน ได้แก่ ที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน การรักษาพยาบาล และการศึกษาภาคบังคับ เป้าหมายเหล่านี้จีนสามารถบรรลุได้หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนเชิงสัมบูรณ์ ซึ่งหลงเหลือกลุ่มคนจนราว 5 ล้านกว่าคน ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน หรือ 58 บาท/วัน ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างหิน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งแก้ปัญหาได้ค่อนข้างยาก บวกกับผลกระทบซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด ทำให้บางคนที่หลุดพ้นจากความยากจนไปแล้วต้องกลับมาตกงาน ขณะที่โครงการโยกย้ายหมู่บ้านยากจนไปยังที่อยู่ใหม่ก็ต้องหยุดชะงักในช่วงมาตรการล็อคดาวน์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ทั้งบรรดาผู้นำสูงสุด และผู้บริหารระดับมณฑลของจีน ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นตามเป้าหมายการขจัดความยากจนให้หมดทั้งประเทศภายในปี 2020 ซึ่งหวังว่าจะสามารถบรรลุผลได้สำเร็จ

• ภารกิจ “แก้จน” ก้าวต่อไปของจีน

แผนการขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปี 2020 ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญในการสานฝันของจีนที่ต้องการจะฟื้นฟูชาติ แต่เป็นการขจัดความยากจนครั้งใหญ่และครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกอีกด้วย

การใช้นโยบายการลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีน ได้ประสบความสำเร็จหลายด้านตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การพิสูจน์อย่างตรงจุด ช่วยให้แบ่งคนยากจน ศึกษาความต้องการของครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจนอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตสำคัญในระยะสั้น ช่วยสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของท้องถิ่นในระยะยาว ก่อให้เกิดการสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การจัดให้มีประกันภัยด้านเกษตรกรรมการปลูกป่าไม้และมาตรการอื่น ๆ ได้ช่วยให้ครอบครัวที่ยากจนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้มากขึ้น พร้อมมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับก้าวต่อไปของนโยบายการลดความยากจนของจีน มีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปใน 5 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงระบบการลดความยากจนอย่างตรงจุดให้ดีขึ้น การพัฒนาแบบสีเขียวและส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อลดความยากจน ออกแบบแผนการส่งเสริมแรงงานเพื่อสร้างอุปทานแรงงานมากขึ้นแก่ครอบครัวที่ยากจน เปลี่ยนแนวทางการช่วงเหลือคนยากจนให้เข้าระบบประกันสังคม และเน้นการตรวจสอบและประเมินในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

อ.หวัง กล่าวว่า หลังจากบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2020 ซึ่งเป็นแก้ปัญหาความยากจนเชิงสัมบูรณ์ ก้าวต่อไปของจีนคือการแก้ปัญหาความยากจนเชิงสัมพัทธ์ ขณะที่ปัญหาความยากจนในเมือง และปัญหาความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นปัญหาใหม่ๆที่ท้าทาย ซึ่งคาดว่า ขั้นต่อไปรัฐบาลจีนคงจะมีการบูรณาการการแก้ปัญหาระหว่างความยากจนในชนบทกับในเมืองควบคู่ไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการสร้างระบบหรือกลไกเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่หลุดพ้นจากความยากจนไปแล้วต้องกลับมายากจนซ้ำ จากการถดถอยของภาคอุตสาหกรรม การแบกภาระต้นทุนค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนพยายามเน้นเรื่องระบบประกันสังคมที่มีความครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มการจ้างงานในประเทศ


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *