ไทยร่วมลงนาม ‘RCEP’ 15 ประเทศ เปิดประวัติศาสตร์เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

            นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางเศรษฐกิจของโลก เมื่อผู้นำ 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ร่วมกันลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หลังเจรจากันมานานกว่า 8 ปี ซึ่งถือเป็นความตกลงทางการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

            การลงนามเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนายกรัฐมนตรี เหวียน ซุน ฟุก ของเวียดนามเป็นประธาน

            เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

            พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ นับเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ เนื่องจาก RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

            พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนของพวกเราได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป

            สำหรับการลงนาม RCEP ครั้งนี้ มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนของไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม

            จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้นำ 15 ประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง RCEP ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยความตกลง RCEPจะเป็นเครื่องมือสำคัญในรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่เข้มข้น และทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

          ทั้งนี้ ผู้นำ RCEP ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับการให้สัตยาบันความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็วและสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง

          ขณะเดียวกันสมาชิก RCEP ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาตั้งแต่ปี 2555 

           สำหรับความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดที่ริเริ่มโดยอาเซียน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนของภูมิภาค

          ทั้งนี้ RCEP ประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และเรื่องใหม่ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

            ความตกลง RCEP เป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2562 ความตกลง RCEPครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

——————————

Your email address will not be published. Required fields are marked *