จีนกำลังร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ (ปี 2021-2025) ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อทิศทางประเทศจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทั่วโลก แผนพัฒนาประเทศฉบับใหม่ครั้งนี้ชวนน่าจับตายิ่ง เพราะมีความพิเศษกว่าครั้งอื่นตรงที่มีโจทย์ท้าทายเพิ่มขึ้นจากวิกฤต COVID-19 การเปลี่ยนแปลงสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) และปัจจัยแวดล้อมภายนอกประเทศที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างๆ ตามมา และนี่คือ 5 ประเด็นที่น่าจับตาถึงทิศทางการขับเคลื่อนประเทศของจีน ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ใน 5 ปีข้างหน้า
ประเด็นที่ 1: เศรษฐกิจจีนอาจโตชะลอลง จากกลยุทธ์ไม่ “รีบเร่ง” แต่เน้น “คุณภาพ” (High-quality growth)
จีนเน้นย้ำการพัฒนาเชิง “คุณภาพ” มากกว่ายึดติดกับเชิง “ปริมาณ” เป็นหลัก ซึ่งหมายถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนและอย่างสมดุลมาสักระยะแล้ว และมีการบรรจุในแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้าอย่างชัดเจน เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพิงต่างประเทศ การกระจายรายได้ และการให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรื่อยมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่นี้ด้วย
แต่ครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเป้าหมายตัวเลข GDP อย่างชัดเจน แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเราอาจจะไม่เห็นตัวเลข GDP ที่โตสูงเฉกเช่นอดีต อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจีนจะละทิ้งเป้าหมาย GDP ไปเสียทีเดียว โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน เช่น Raymond Yeung นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia and New Zealand Banking Group เผยต่อสำนักข่าว Bloomberg ว่า “จีนจะยังคงเป้าหมายระดับจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) ที่จะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในระดับปานกลางภายในปี 2035”
ประเด็นที่ 2: ยุทธศาสตร์ “Dual Circulation” จะเป็นโมเดลหลักที่นำจีนทะยานสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ “Dual Circulation” คือการขับเคลื่อนประเทศโดยเน้นความแข็งแกร่งในประเทศ (Internal Circulation) เป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับแรงเสริมส่งจากภาคต่างประเทศ (International Circulation) กล่าวคือ จีนจะเน้นสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มบทบาทอุปสงค์ในประเทศให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักใน “แผนปฏิบัติการ” แนวคิดนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพ.ค. 2020 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ครั้งที่ 5 ได้มีการชูแนวคิดนี้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีรายละเอียดใน “แผนปฏิบัติการ” ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น เราจึงต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะหากโมเดลนี้ถูกนำไปสู่นโยบายการลดนำเข้าสินค้าขั้นกลาง และทดแทนด้วยการพึ่งพาการผลิตและปัจจัยการผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น ทำให้มีผลต่อรูปแบบการค้าโลกในระยะถัดไปได้
หลังเกิดการระบาดของ COVID-19 หลายฝ่ายคาดว่าในอนาคตอาจเห็นทิศทางการต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ (De-globalization) เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงการลดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ แต่จากยุทธศาสตร์ “Dual Circulation” นี้ สะท้อนว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนยังคงยึดแนวทาง Globalization ต่อไป ด้วยการ “ไม่ลด” ระดับการเปิดประเทศและเชื่อมโยงกับนานาประเทศ เช่น เดินหน้าโครงการ Belt and Road และลดการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ขณะเดียวกันก็จะ “เพิ่ม” ระดับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น
ประเด็นที่ 3: การเพิ่ม “ความกินดีอยู่ดี” ให้กับชาวจีน มีความสำคัญต่อการกระตุ้นการบริโภค และนับเป็นโอกาสมหาศาลสำหรับภาคธุรกิจทั่วโลก
จีนยังคงเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเพิ่มบทบาทการบริโภคในประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ในช่วงก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเป็นผลให้สัดส่วนการบริโภคต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.7% ในช่วงปี 2016-2019 จากที่เคยอยู่ที่ 36.1% ในปี 2011-2014 แต่กระนั้นก็ยังต่ำกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทำให้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่นี้ จีนยังคงสานต่อเจตนารมณ์เดิม โดยเน้นย้ำชัดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเป็น Key driver สำคัญของเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า
นโยบายการเพิ่มรายได้ เพิ่มสวัสดิการทางสังคม (Social safety net) และยกระดับความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) เป็นหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของการบริโภค เพราะเป็นกลไกที่ทำให้มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ลดการออมเงินเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉินที่มากเกินไป และหนุนนำการใช้จ่ายในปัจจุบันให้พุ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจีนจะดำเนินแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่นการเร่งสร้างสังคมเมือง ซึ่งยังมี Room ที่จะพัฒนาได้อีกมาก และถือเป็นโอกาสของธุรกิจทั่วโลกในการเจาะ Demand ใหม่ๆ
ประเด็นที่ 4: จีนอาจกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแบบครบวงจร หลังจากจะใช้กลยุทธ์หันมา “พึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี”มากขึ้น
แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่ย้ำชัดว่าจีนจะยกระดับการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีเพื่อทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ (Technological self-reliance) มากกว่าการพึ่งพาการนำเข้าจากชาติอื่น โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศมากถึงปีละ 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากสามารถผลิตในประเทศได้เพียง 16% ของความต้องการใช้งานทั้งหมดเท่านั้น อีกทั้งเซมิคอนดักเตอร์ยังอยู่เบื้องหลังหลายๆ เทคโนโลยีสำคัญในยุค 5G เช่น AI, IoT และ Smart Car ท่ามกลางบทเรียนจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และจากวิกฤต COVID-19 ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักของ Supply Chain
ภายใต้หนทางนี้ทำให้คาดว่างบประมาณในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังข้อมูลล่าสุดชี้ว่าอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.19% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมัน และสหรัฐฯ ที่งบประมาณในส่วนนี้สูงถึงประมาณ 2.8-4.8% ของ GDP
ประเด็นที่ 5: จีนจะตั้งมั่นยึดหลัก “Green Economy” เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งจะมีนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป
ภายใต้แผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ จีนจะให้ความสำคัญกับ Green Economy อย่างเข้มข้น เนื่องจาก (1) จีนถือเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นประมาณ 28% ของทั้งโลก (และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอาจจะแตะระดับสูงสุดภายในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (2) จีนตั้งเป้าที่จะบรรลุ “Carbon neutrality” ภายในปี 2060 หรือมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ (Net-zero CO2) เพื่อลดปัญหาโลกร้อน
ดังนั้นเราจึงจะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่อยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งภาคการผลิตและการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่า กว่า 20% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีนในปี 2025 จะเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นจนคิดเป็น 50% ในปี 2035 จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 5% นอกจากนี้ ยังต้องจับตาสหรัฐฯซึ่งกลับมาให้ความสำคัญกับ Green economy มากขึ้น และอาจหยิบประเด็นนี้มาต่อกรกับจีนในอนาคตได้
ทั้งนี้ ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ด้วย GDP ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้เร็วและดีกว่าหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับหลากหลายประเทศ รวมถึงไทยที่จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของจีนจึงจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ไม่น้อย โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) รวมถึงแผนนโยบายระยะยาวปี 2035 จะมีความชัดเจนและถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการหลังผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนประชาชนจีน (National People’s Congress: NPC) ในเดือนมี.ค. 2021

