กระแสที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้ คงต้องยกให้รถยนต์ไฟฟ้าและค่ายรถจากจีนที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างน่าจับตา
ไม่เพียงแต่ในฐานะ ‘ผู้เล่นรายสำคัญ’ ในตลาด ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้สิทธิ์นำเข้ามาในราขอาณาจักรไทยโดยภาษีเหลือ 0 ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2561
ในวันนี้ค่ายรถยนต์สัญชาติจีนยังมีบทบาทเป็น ‘พันธมิตรสำคัญ’ ที่ไทยต้องเร่งดึงดูดการเข้ามาลงทุนก่อนเสียโอกาสฐานการผลิตรถยนต์ของโลก ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ไปสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานใหม่เพื่อลดปัญหามลพิษ
MG ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่ง 90% ตลาดรถ BEV ในไทย
เมื่อกล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถสัญชาติจีนอย่าง SAIC Motor นับเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับประเทศไทย SAIC Motor ได้จับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก่อตั้ง SAIC Motor-CP ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาภายใต้แบรนด์ MG และถือเป็นผู้จุดประกายให้เกิดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในสังคมไทย ด้วยการเปิดตัว ‘MG ZS EV’ รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมาในราคา 1,190,000 บาท จนประสบความสำเร็จขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่มียอดขายอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยมากกว่า 90% ด้วยยอดขายสะสมมากกว่า 2,000 คัน
ล่าสุด เมื่อปลายปีที่แล้ว MG ยังย้ำจุดยืนในการเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกด้วยการเปิดตัว ‘NEW MG EP’ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% สไตล์ Station Wagon ด้วยราคาจำหน่ายเร้าใจที่ 988,000 บาท
นอกจากนี้ยังได้เดินหน้าสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในโชว์รูม MG 100 แห่งทั่วประเทศซึ่งเริ่มให้บริการเมื่อต้นปี และมีแผนจะขยายอีกกว่า 500 แห่งภายในปีนี้ พร้อมทั้งมีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดเข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มเติม พร้อมนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือการลงทุน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น


MGเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่ถึงล้าน
Great Wall Motor พร้อมบุก EV ไทยเต็มกำลัง
‘Great Wall Motor’ (เกรท วอลล์ มอเตอร์) ชื่อนี้เริ่มคุ้นหูคนไทยมากขึ้น นับตั้งแต่ข่าวใหญ่การเข้าซื้อโรงงานที่ระยองต่อจาก ‘เจเนอรัล มอเตอร์ส’ หรือ GM ที่ถอนทัพจากไทยเมื่อปี 2563
ล่าสุด Great Wall Motor หรือ GWM มังกรตัวใหม่ในตลาดยานยนต์ไทยเพิ่งจัดงาน “สวัสดีไทยแลนด์” เปิดตัวแบรนด์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด ‘Experience Your New xEV World’ ที่ต้องการจะเปิดประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในรูปลักษณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย
นอกจากนี้คณะผู้บริหารนำโดย เจียหมิง จาง ประธานบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ยังได้เดินทางเข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย พร้อมชื่นชมศักยภาพของไทยด้านการผลิตยานยนต์ซึ่งตรงกับแนวทางของบริษัทฯ ที่เน้นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยวางแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเฟสแรกที่จำนวน 80,000 คัน และมุ่งหวังจะดำเนินการลงทุนในไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
ไทยเป็นหมุดหมายสำคัญในอาเซียนที่ Great Wall Motor ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนล่าสุด โดยมีเป้าหมายให้ฐานการผลิตที่จังหวัดระยองเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาไปยังตลาดต่างๆทั่วโลก โดยทุ่มเงินลงทุนไปแล้วกว่า 22,600 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรวมในเฟสแรกอยู่ที่ 8 หมื่นคัน/ปี แบ่งเป็นส่งออก 40% และขายในประเทศ 60% ปัจจุบันโรงงานของบริษัทฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอบางส่วนตั้งแต่ปลายปี 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปีนี้
ทั้งนี้ ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ Great Wall Motor เพื่อปักธงในตลาดไทยจะเน้นไปที่ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. การเป็นผู้นำด้านรถพลังงานไฟฟ้า หรือ xEV Leader ภายใต้ Mission “9 in 3” ที่จะนำรถยนต์ 9 รุ่นเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยภายใน 3 ปี ซึ่งแทบทั้งหมดจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
2. การรับฟังเสียงของผู้บริโภคมาเป็นกลยุทธ์เป็นหลักในการวางแผนธุรกิจ และ 3.การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ Great Wall Motor จะนำ New User Experience เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้บริโภค เปลี่ยนรูปแบบการขายรถยนต์แบบเดิมๆ โดยประเดิมบุกตลาดไทยด้วยการส่งรถยอดนิยม 2 รุ่น คือ เอสยูวี ‘HAVAL H6’ รถยนต์เอสยูวีขุมพลังไฮบริดภายในครึ่งปีแรกนี้ซึ่งจะเป็นรุ่นแรกที่ประกอบในไทย
ตามมาด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่‘ORA Good Cat’ ซึ่งจะนำเข้ามาจากจีนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงเรื่องราคา แต่คาดกันว่าน่าจะต่ำกว่า 1 ล้านบาท และยังมีอีก 2 รุ่นที่จะเปิดตัวในไทยปีนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยชื่อรุ่น
จากจุดแข็งความเป็นผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนซึ่งตลาดโลกให้การยอมรับในด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการทำผลสำรวจก่อนหน้านี้กับนิด้าโพลซึ่งคนไทยกว่า 99%ที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นเชิงบวกกับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และกว่า77% ของผู้บริโภคชาวไทยสนใจในรถยนต์ไฟฟ้า จึงทำให้ Great Wall Motor มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยหลังจากนี้บริษัทยังมีแผนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าต้นแบบโดยการลงทุนของบริษัท และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อขยายความครอบคลุมสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต
เปิด ROAD MAP ไทยขับเคลื่อน EV
อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการเห็นชอบ ‘แผน 30@30’ ตั้งกำหนดเป้าหมายภายในปี 2030 ประเทศไทยจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะสั้น (2020-2022) จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะและรถส่วนบุคคลอื่น ๆ ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า 60,000-110,000 คัน
- ระยะกลาง (2021-2025)เร่งให้มีรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน
- ระยะยาว (2026-2030) จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ 2.63 บาทต่อหน่วย และตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในรัศมี 50-70 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางระยะไกล
ล่าสุด บอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ ครอบคลุมการส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยในส่วนของการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าได้กำหนดเงื่อนไขเป็นกิจการที่มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) แต่ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ โดยกรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า หลังจากการเข้ามาของค่ายรถยนต์จากจีน 2 ค่ายใหญ่ MG และ Great Wall Motor ที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว ทำให้อนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนอีกหลายค่ายให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และน่าจะทำให้รถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ตลาด EV ไทยเติบโตแค่ไหน?
จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสะสม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ทั้งสิ้น 181,236 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด หรือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) / ปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จำนวน 179,034 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) 2,202 คัน
สำหรับยอดรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 30,747 คัน แบ่งเป็นแบบ HEV/PHEV จำนวน 29,459 คัน และแบบ BEV 1,288 คัน นัยยะสำคัญของตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่นี้อยู่ที่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าชนิด BEV ที่แม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายของรถทั่วไป แต่มีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เช่น MG ZS EV ที่มีราคาจับต้องได้


รถไฟฟ้า ORA Good Cat
จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มไฮบริด(HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด(PHEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000-50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 10-23% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 17% หรือคิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน
ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000–5,000 คัน ขยายตัว 176-245% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 102% หรือ คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน ขณะที่ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศในปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000-80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60-78% จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คัน ในปี 2563
ปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโต มาจากการเข้ามาแข่งขันของค่ายรถที่ทวีความดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์หลายรุ่นกลุ่ม xEV เริ่มเข้ามารุกตลาดกลุ่มราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้น
ขณะที่หากมาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอสามารถดึงการลงทุนเข้ามาปี 2564 ได้มากและภาครัฐมีการออกมาตรการส่งเสริมตลาดเข้ามาเพิ่มเติมที่เน้นสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดได้ นอกจากนั้นแล้วหากไทยใช้จังหวะโอกาสนี้ทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศให้เติบโตได้ดีจะช่วยเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก
- เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
-
ถอดบทเรียนความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสู่ไทย
-
‘Great Wall’ค่ายรถจีนบุกไทย ประเดิมเปิดตัวรถไฟฟ้า ‘ORA Good Cat’ และเอสยูวี ‘HAVAL H6’ ดันไทยเป็นฐานผลิตรถส่งออกอาเซียน
-
เกรท วอลล์ มอเตอร์ เผยโฉม‘All New HAVAL H6 Hybrid SUV’ ครั้งแรกในโลกที่ไทยในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42