การเดินทางไปเมียนมาในครั้งนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่อดีตเมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้งเท่านั้น แต่เรายังมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปที่เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา และยังเคยเป็นเมืองหลวงเมื่อครั้งอดีตเช่นกัน นั่นก็คือ มัณฑะเลย์ 

มา มัณฑะเลย์ สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเดินทางไปสักการะพระมหามัยมุนี 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของเมียนมา ซึ่งคำว่า มหามัยมุนี แปลว่า มหาปราชญ์ เป็นพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ปางมารวิชัย มีตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงประทานลมหายใจให้พระมหามุนีเป็นตัวแทนสืบทอดพระพุทธศาสนา องค์พระฯ จึงถูกพุทธศาสนิกชนปิดทองเนิ่นนานกว่าศตวรรษจนทองหนาและนิ่ม จนถูกเรียกขานว่า “พระเนื้อนิ่ม”

 


ชาวเมียนมายังเชื่อว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มีลมหายใจจริง จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์ทุกเช้าโดยเจ้าอาวาสวัด ซึ่งพิธีนี้ยังคงสืบทอดมาตราบจนทุกวันนี้ ดังนั้นหากใครต้องการเข้าร่วมพิธี จะต้องตั้งตื่นแต่เช้า เพราะพิธีจะเริ่มตั้งแต่ตีสาม เริ่มจากการประพรมพระพักตร์ด้วยน้ำผสมเครื่องหอมที่ทำจากเปลือกไม้ทานาคา พร้อมใช้แปรงขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ ก่อนใช้ผ้าที่สาธุชนถวายเช็ดจนแห้งสนิท และใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งวัดแห่งนี้มีธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ คือไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าใกล้องค์พระได้เท่าผู้ชาย แต่สามารถซื้อแผ่นทองฝากผู้ชายขึ้นไปปิดทองแทน


ไฮไลต์ของการมัณฑะเลย์ครั้งนี้อยู่ที่ เมืองอังวะ  ซึ่งการเดินทางไปนั้น จะต้องนั่งเรือข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง มีโอกาสได้ล่องเรือก็ทำให้เห็นชีวิตข้างทางของผู้คนได้เป็นอย่างดี อย่างที่รู้ๆ กันว่า สายน้ำคือชีวิต ดังนั้นชาวเมียนมาจึงใช้ทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่างที่นี่ ตั้งแต่อาบน้ำหรือซักผ้า

แต่สิ่งที่สร้างสีสันให้กับการเดินทางมากที่สุด เห็นจะเป็น รถม้า ที่ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง สารถีเป็นหญิงวัยกลางคนท่าทางดูใจดี พาเราลัดเลาะไปตามทางเลียบกำแพงเมืองซึ่งเหลืออยู่เพียงบางส่วน ตลอดเส้นทางเล็กๆ ที่รถม้าวิ่งผ่าน เราจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวอังวะ

ปลายทางของการนั่งรถม้าของเราครั้งนี้อยู่ที่ วัดบากะยะจาวน์  เมื่อแรกที่ไปถึง เราจะเห็นเรือนไม้สักสีดำขนาดใหญ่ พร้อมกับเสาไม้สักกว่า 267 ต้น โดยจุดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ศิลปะลวดลายการแกะสลักอันงดงาม ส่วนสาเหตุที่เรือนไม้เป็นสีดำทั้งหมด เกิดจากภูมิปัญญาของชาวพม่าที่ทาน้ำมันเคลือบทั่วบริเวณ เพื่อกันปลวกและเพื่อความคงทนของไม้สัก ส่วนหัวเสาซีเมนต์บนเสาไม้ด้านนอก ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำฝนเซาะเข้าไปในแก่นไม้ ซึ่งจะทำให้ผุพังเร็วนั่นเอง


 ขากลับรถม้ายังพามาแวะชมความงามของหอคอย ที่มีความสูงเพียง 27 เมตร เคยทำหน้าที่เป็นหอคอยระวังภัยมาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีลักษณะเอียงเล็กน้อย ปัจจุบันจึงเรียกกันว่า “หอเอนแห่งอังวะ”          

     มาทำบุญถวายสังฆทานกันต่อที่วัดกุสินารา ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพาน คาดว่าวัดแห่งนี้ มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ และได้รับการอุปถัมภ์จากชาวไทย ทำให้พระพักตร์มีสีทอง ซึ่งแตกต่างจากพระพุทธรูปของพม่าที่มีการแต้มสีแดงที่พระโอษฐ์ ภายในวัดสร้างเป็นบรรยากาศคล้ายโถงถ้ำอันลึกลับ บนเสาวาดเป็นลวดลายของต้นสาละ เพื่อสื่อถึงบรรยากาศของพระพุทธเจ้าขณะเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ด้านซ้ายและขวามีรูปปั้นพระสาวก พระฤาษี ยักษ์ และนักบวช ที่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพาน    

///////////////////////////

Your email address will not be published. Required fields are marked *