อ้อยสู่น้ำตาล ธุรกิจความหวานเมืองฉงจั่ว

สำหรับเมืองฉงจั่วแล้ว อ้อยนับว่ามีความหมายไม่น้อย เมืองฉงจั่ว ได้รับฉายาว่า “เมืองแห่งน้ำตาลของจีน” ปริมาณการผลิตน้ำตาลอ้อยอยู่ที่ราว 2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของกวางสี และ1/5 ของทั้งประเทศจีน หลายปีมานี้ ท้องถิ่นมุ่งมั่นนำอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาล และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ปัจจุบันเมืองฉงจั่วไม่เพียงนำอ้อยมาผลิตน้ำตาล แต่ยังโฟกัสไปที่แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน การสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้อ้อยกลายเป็น “สินค้าเนื้อหอม” ในมือของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและธุรกิจ

อ้อยในมุมมองของเศรษฐกิจหมุนเวียน นับว่ามีประโยชน์ทุกส่วน นอกจากผลิตน้ำตาลแล้ว ใบอ้อยยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนกากอ้อยใช้ผลิตกระดาษและผลิตน้ำตาลไซโลส กากน้ำตาลใช้ผลิตแอลกอฮอล์และผงชูรส

นี่คือกระบวนการ “นำอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” และยังเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาลแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจุบันห่วงโซ่อุตสาหกรรมลักษณะนี้ เริ่มเกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีนแล้ว

ปี 2560 เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างมั่นคง ใช้การอัพเกรดอุตสาหกรรม เป็นตัวผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลในกวางสี มณฑลกวางสีจึงเสนอให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีน และนำโซนศูนย์กลางมาจัดตั้งไว้ในเมืองฉงจั่ว ซึ่งสร้างขึ้นตามโมเดล “One park, Three zones” ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (ไทย-จีน) เขตเศรษฐกิจฝูสุยท่าอากาศยานหนานหนิงจีน-อาเซียน และนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเจียงโจว

จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในโซนศูนย์กลางของนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีน มีจำนวนกว่าร้อยราย อุตสาหกรรมน้ำตาลและธุรกิจปลายน้ำ กินสัดส่วนราว 45% หนึ่งในนั้น ธุรกิจที่ผลิตน้ำตาลโดยเฉพาะมี 2 ราย ได้แก่ COFCO Tunhe Chongzuo Sugar Co., Ltd. ในเครือ COFCO Group และ Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. ในเครือ Mitrphol Group ส่วนธุรกิจในอุตสาหกรรมปลายน้ำ มีจำนวนกว่า 40 ราย เช่น Hao Qing Chun Sugarcane Vinegar Industry,Angel Yeast, Jin Wu Tong Food,Feng Tai Food เป็นต้น จนถึงปลายปี 2560 มีมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลอ้อย และธุรกิจปลายน้ำ 6,822 ล้านหยวน เสียภาษี 110 ล้านหยวน

“เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในนิคมฯ เมืองฉงจั่วจึงออกนโยบายสนับสนุนต่างๆ เช่น มาตรการสนับสนุนการเชิญชวนนักธุรกิจเข้ามาลงทุนฉบับชั่วคราว แผนงานการเร่งสร้างโรงงานตามมาตรฐานและจูงใจให้ธุรกิจเข้าลงทุน เป็นต้น ทั้งยังมอบสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ เช่น การจัดเก็บภาษี ที่ดิน การสร้างโรงงานตามมาตรฐาน การค้าระหว่างประเทศ ดึงดูดบุคลากรคุณภาพ ขณะเดียวกัน ยังกำหนดแผนเร่งผลักดันการดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจผลิตน้ำตาลเชิงยุทธศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเป็นหลักประกันในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล” จ้าว ปอ กล่าว

นโยบายสิทธิพิเศษที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลต่างๆที่เมืองฉงจั่วกำหนดออกมา ได้ให้การสนับสนุนธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การจัดเก็บภาษี ที่ดิน การสร้างโรงงานตามมาตรฐาน การค้าระหว่างประเทศ การดึงดูดบุคลากรคุณภาพ เป็นต้น

เพื่อให้บริการธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯ ทางนิคมฯฉงจั่วจึงแบ่งโซนบริหาร โดยยึดการบริหารแบบ “Four One” (One Leader/One Department/One System/One Stop) และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการแบบพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนเข้าสู่กระบวนการผลิต แก้ไขอุปสรรคและปัญหาที่ธุรกิจต้องเจอในกระบวนการผลิต

“ได้รับประโยชน์จากนโยบายรับแรงงานชาวเวียดนามของนิคมฯ ซึ่งช่วยลดต้นทุนแรงงานไม่น้อย” ผู้รับผิดชอบของ Hao Qing Chun Sugarcane Vinegar Industry Co.,Ltd. กล่าว

หลายปีมานี้ เมืองฉงจั่วเร่งยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล ควบรวมธุรกิจน้ำตาลอ้อย ทำธุรกิจผลิตน้ำตาลให้มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน และความแข็งแกร่ง ขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีนที่ตั้งอยู่ในเมืองฉงจั่ว ก็คือแพลตฟอร์มขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลของเมืองฉงจั่วตลอดจนมณฑลกวางสี

ปัจจุบันโครงการผลิตน้ำตาลของ Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. ซึ่งเป็นโครงการสำคัญอันดับแรกของนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีน ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 2,748 ล้านหยวน ใช้พื้นที่ราว 599 ไร่ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2560 การจัดตั้งโครงการนี้ ไม่เพียงช่วยกระตุ้นการยกระดับเมืองฉงจั่ว แต่ยังช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความกินดีอยู่ดี หลุดพ้นจากความยากจน ทั้งยังสร้างสีสันให้กับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ-การค้าไทย-จีน

“กล่าวได้ว่า นิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกวางสี-จีน เป็นแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำตาลอ้อยในเมืองฉงจั่ว มีบทบาทสำคัญต่อการขยายอิทธิพลของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งประเทศตลอดจนทั่วโลก” จ้าว ปอ กล่าว

Your email address will not be published. Required fields are marked *