“สาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไทยต่ำต่อไปในโลกอนาคตอันใกล้ คือ การที่พาณิชย์อิเล็กโทรนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) กำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็ว”

 


หลังจากหลายหน่วยงานได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคส่งออกที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 9% ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

            แม้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีประเด็นคำถามเกี่ยวกับตัวเลข “เงินเฟ้อ” ที่ค่อนข้างต่ำ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2010 อยู่ที่ 0.6% เท่านั้นนั้น ต่ำกว่าในช่วงทศวรรษก่อนหน้าถึง 2%

            เป็นการสวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลกที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

            ข้อสังเกตเรื่องนี้ มีคำตอบในบทความวิจัยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของธปท. เรื่อง ไชปริศนาเงินเฟ้อต่ำด้วยราคาสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเขียนโดย พิม มโนพิโมกษ์ วรดา ลิ้มเจริญรัตน์อัครพัชร์ เจริญพานิช และชนกานต์ ฤทธินนท์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยบทความวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า

            อัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะการที่เงินเฟ้อต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะเงินฝืด หรือสภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นได้เผชิญมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ช่วงปี 1990

            นอกจากนี้ การที่ดูเสมือนว่าเงินเฟ้อจะไม่ตอบสนองกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในช่วงนี้ ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายต้องคิดหนักว่า จะยังสามารถใช้เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายกระตุ้นหรือชะลอการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีตหรือไม่

            ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต หรือการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการที่ตลาดโลกมีความเชื่อมโยงกันผ่านการเปิดเสรีทางการค้า

            งานวิจัยที่ผ่านมา มักวิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต่อเงินเฟ้อโดยการประมาณค่าแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริง จากการตัดหมวดสินค้าที่มีความผันผวนระยะสั้นสูง ออกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เช่น ราคาอาหารสด และพลังงาน

            แต่การวัดแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริงด้วยวิธีนี้อาจไม่แม่นยำเสมอไป โดยเฉพาะถ้าสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำในช่วงที่ผ่านมา คือการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันโลก

            คณะวิจัยได้เสนอวิธีใหม่เพื่อวิเคราะห์แรงกดดันที่แท้จริงของประเทศไทย โดยนำราคาสินค้าและบริการรายย่อยหลายร้อยรายการที่กระทรวงพาณิชย์เก็บรวบรวมมาจากร้านค้าขายปลีกทั่วประเทศ หรือข้อมูลออฟไลน์ มาแยกส่วนความเคลื่อนไวหของราคาด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ เพื่อสกัดส่วนที่เป็นตัวสะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่แท้จริงของประเทศ ซึ่งการใช้ข้อมูลราคาสินค้ารายย่อยจำนวนมากเพื่อศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อ ย่อมนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อได้ในมิติที่ลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น

                ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไทยต่ำต่อไปในโลกอนาคตอันใกล้ คือ การที่พาณิชย์อิเล็กโทรนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) กำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาการค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม อาจพลิกโฉมรูปแบบของตลาดการค้าขายปลีกและส่งผลกระทบต่อพลวัตเงินเฟ้ออย่างมีนัยยะสำคัญ

            เพราะการที่ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าเพื่อค้นหาราคาที่ดีที่สุดได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจมากขึ้น และทำให้ร้านค้าต้องปรับราคาให้ลงมาไล่เลี่ยกัน แม้จะลดส่วนกำไรของตนเองไปก็ตาม

            นอกจากนี้ การที่ผู้ขายสามารถประกาศขายสินค้าของตนแบบแทบไม่มีต้นทุน ก็นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า การปรับเปลี่ยนราคาสินค้าจะถี่ขึ้น และมีขนาดการปรับเปลี่ยนราคาที่เล็กลง

            หลังจากอ่านบทความเรื่องนี้แล้ว ทำให้มองเห็นความท้าทายพุ่งเป้าไปที่ผู้กำกับดูแลนโยบายการเงินอย่างธปท.ที่ต้องทบทวนทิศทางเงินเฟ้อในอนาคตและระบบการเงินในยุคดิจิทัลให้ถ้วนถี่และบริหารจัดการนโยบายของประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติเช่นนี้

Your email address will not be published. Required fields are marked *