สงครามการค้า “จีน-สหรัฐ” ยื้อ ไทย..พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

       “ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น จะยึดรูปแบบการค้าแบบเดิมไม่ได้”


 

            ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เปิดเกมกันด้วยสงครามการค้า ส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนจับตาว่า ไทยในฐานะคู่ค้ากับสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

           กองบรรณาธิการนิตยสาร TAP ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนา เรื่อง สงครามการค้า-อเมริกา : โลกระส่ำ..ไทยสะเทือน ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจจากวิทยากรบางส่วนในงานเดียวกันนี้มานำเสนอ

 


            เริ่มจาก พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ที่มองว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะการส่งออกของไทยปีนี้ยังไม่มีปัญหา แม้จีนลดการนำเข้าข้าวจากไทยแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะมีนโยบายก้าวเข้าสู่ความมั่นคงทางอาหาร แต่ภาคเอกชนของจีนยังมีการนำเข้าข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง

            “จะไม่มีใครได้รับชัยชนะในสงครามการค้า ต่างฝ่ายจะได้รับผลกระทบและมีความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจโลกลามทุ่ง และปะทุขึ้นอีกหลายส่วน ซึ่งไทยต้องยืนต่อไป โดยมียุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งในประเทศ ผู้ประกอบการต้องกระจายความเสี่ยง เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”

            ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีความกังวลเรื่องเสถียรภาพ เพราะปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่ต้องหยุดชะงักช่วงหนึ่ง ทั้งที่การค้าโลกกำลังฟื้นตัว

            ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งไทยมีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง ทำให้หลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่สนใจลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ไทยจะมีจุดอ่อนเรื่องคนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ด้านอื่นก็พร้อมรองรับการลงทุน


            นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังมีมุมมองที่น่าสนใจของ ขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ประเมินว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จะทำให้การค้าแบบเสรี เปลี่ยนไปสู่การกีดกันการค้ามากขึ้น และรูปแบบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจากปัจจุบันที่เป็นพหุภาคี จะเป็นทวีภาคี หรือการจับคู่เจรจามากขึ้น

            “สหรัฐจะเริ่มกดดันคู่เจรจาและหันมาเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศ แทนการเจรจาเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งจะทำให้อำนาจการต่อรองไปอยู่ที่สหรัฐ”

            แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกจะเปลี่ยนจากจีน เป็นการส่งออกตรงจากประเทศผู้ผลิตไปยังสหรัฐโดยตรง หรือไปประเทศอื่น  โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาคเกษตรและยานยนต์ ซึ่งด้านสิ่งทอ จะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของทั้งสองประเทศ จะทำให้เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่น เช่น กัมพูชา และเวียดนาม แทน

 


            ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ เอ็กซิมแบงก์ย้ำว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น จะยึดรูปแบบการค้าแบบเดิมไม่ได้ โดยมีแนวทางการปรับตัว 4 ด้านคือ

            1.ปรับตลาด ต้องกระจายช่องทางจำหน่ายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ไม่พึ่งแต่ตลาดหลัก หรือตลาดใหญ่เท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม (CLMV) ยังเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทยจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7-8%

            2. ปรับสินค้า ต้องรับจ้างผลิตสินค้าสำเร็จรูป มีแบรนด์ไทยมากขึ้นและใส่ความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงคุณภาพการผลิต

            3. ปรับกลยุทธ์ โดยเริ่มมองช่องทางการส่งออก หรือการลงทุนในประเทศปลายทาง โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

            และ 4.ปรับแนวคิดหรือ Mindset โดยหมั่นหาความรู้ ศึกษาแนวโน้มการค้าการลงทุนและความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

            เมื่อถามว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะยืดเยื้อแค่ไหน ขวัญใจมองว่า อย่างน้อยก็จะต่อเนื่องไปจนกว่าจะหมดวาระของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ซึ่งได้ทำลายกฎกติกาของโลกพอสมควร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวงกว้าง และทำให้จีนต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ต้องเริ่มย้ายฐานการผลิตที่ต้นทุนลดลงและผลิตสินค้าไฮเอนด์มากขึ้น ได้แก่ประเทศในกลุ่ม CLMV และแอฟริกา โดยจีนอาจหันมาผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีและเน้นคุณภาพมากขึ้น ส่วนสินค้าราคาถูก จะไปผลิตที่ประเทศอื่นที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า


Your email address will not be published. Required fields are marked *