จากผู้นำที่ยืนหนึ่งเป็นมหาอำนาจทั้งด้านเทคโนโลยี การศึกษา และสกุลเงินหลักของโลก วันนี้ สหรัฐอเมริกา เปรียบเหมือนรถแข่งฟอร์มูล่าวันที่กำลังถูกคู่แข่งอีกคันอย่าง“จีน”ไล่เบียดตามมาติดๆ เจ้าสังเวียนที่วิ่งนำมาตลอดจึงต้องพยายามกันไม่ให้ถูกแซงได้ง่ายๆ   

        ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ฉายให้เห็นถึงภาพการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 มหาอำนาจโลก ในระหว่างปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5 มีนาคม 2562

              ไม่เพียงแต่ตัวเลขสถิติส่งออกและดุลการค้าระหว่าง 2  ประเทศเท่านั้นที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกา“ยอมไม่ได้”จนนำมาสู่สงครามการค้าที่อยู่ในช่วงพักรบเปิดเจรจา

            แต่ยังอีกประเด็นสำคัญที่สร้างความหวั่นเกรงให้กับสหรัฐ  เมื่อจีนมีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นผู้นำ AI ของโลกภายในปี 2030 จนสั่นคลอนตำแหน่งผู้นำ หรือ Leadership Position 3 ฐานที่อเมริกาเป็นเจ้าโลกอยู่ ได้แก่ความเป็นมหาอำนาจเทคโนโลยี การศึกษาและผู้นำสกุลเงินหลักของโลก

                ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มซีพี อธิบายว่า ภายใต้นโยบายพัฒนาเชิงรุกด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี( Made in China 2025)  จีนได้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะครองความเป็นผู้นำไว้ 10 ด้าน โดยเทคโนโลยีทั้งหมดจะเชื่อมโยงสอดประสานกับเทคโนโลยี AI

       ด้วยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้แม้วันนี้ เทคโนโลยีแต่ละด้านของจีนอาจจะด้อยกว่าอเมริกา หรือบางประเทศในโลก แต่เมื่อเกิดความเชื่อมโยง หรือ Connectivity ของทุกเทคโนโลยีในภาพรวม กอปรกับเศรษฐกิจจีนที่ก้าวกระโดดอย่างมากในด้านอีคอมเมิร์ซ จึงส่งผลให้จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกทางด้าน “เทคโนโลยี AI” ที่ทั่วโลกกำลังกล่าวขวัญถึง ว่านี่คือ “Singularity”จุดเปลี่ยนของมนุษยชาติ หรือ จุดตัดระหว่างความสามารถของคอมพิวเตอร์และความคิดของมนุษย์

            วันนี้ จีนได้ก้าวมาถึงจุดที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับในฐานะหนึ่งในสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และยังมีเป้าหมายก้าวต่อไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยี…

            เปรียบเทียบแล้ว เราจะเห็นภาพเหมือนรถแข่งในสนามฟอร์มูล่าวัน จากที่อเมริกาวิ่งนำหน้ามาตลอด  ตอนนี้มีคันที่สองเครื่องแรงไม่แพ้กันมาจ่อติดหลัง คันหน้าก็ต้องพยายามกันไม่ให้แซง…

           ศุภชัย เล่าพร้อมแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สิ่งที่พวกเราอาจได้ยินข่าวกระเซ็นกระสายเรื่อง Cyber War  ไปจนถึงเรื่องของหัวเว่ย หลายคนถามผมว่าจริงไหมว่า อุปกรณ์หัวเว่ยสามารถที่จะนำข้อมูลทุกอย่างออกจากนอกประเทศที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ในทางเทคโนโลยี เราสามารถป้องกันและทำได้หลายขั้นมากที่จะรู้ว่ามีข้อมูลอะไรถูกส่งออกไปจากอุปกรณ์หรือไม่…

           “ …อันนี้จึงเป็นสมมติฐานของผมเอง ถ้าผิดก็ขออภัย คือ ถ้าปล่อยให้จีน เป็นผู้นำด้าน 5G และต่อไปสู่  6G พูดง่ายๆก็คือเป็นผู้นำด้าน Connectivity หรือการสื่อสารเชื่อมโยงซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของ Digital Economy และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ Data Driven Economy ก็คือ AI นั่นเอง ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ งบวิจัย R&D ของหัวเว่ยใหญ่ที่สุดในโลกในหมวดสื่อสารทั้งหมด

          ดังนั้น ถ้าอเมริกายังนำเข้าอุปกรณ์ของหัวเว่ย ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีของจีนก้าวกระโดด ขณะนี้ บางประเทศในยุโรป อย่างเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี  จึงเริ่มมีท่าทีในเรื่องความปลอดภัยเพื่อที่จะรักษาฐานการผลิตของอียู อันนี้ก็ถือเป็นการเมืองโลก จะบอกว่าเป็น  GEO politics อย่างหนึ่งก็ได้ แต่เป็นไปทางด้านเทคโนโลยี” ศุภชัย วิเคราะห์

          อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีคงไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่ยังมีเรื่องสกุลเงิน ซึ่งหลายคนเริ่มจับจ้องถึงบทบาทของเงินหยวน และบทบาทผู้นำทางการเงินของประเทศจีนในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศจีน อย่างเช่น One Belt One Road ที่จีนกำลังผลักดัน

          ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มซีพีที่มีธุรกิจครอบคลุมทั้งในจีน อเมริกา และกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ยังวิเคราะห์ด้วยว่า  แรงกดดันจากสหรัฐ ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้จีนต้องเร่งสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาด้าน R&D ตลอดจนฟื้นฟูระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศ

          “ ผมคิดว่า การศึกษาจะเป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญของประเทศจีน ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี” เขาเชื่อเช่นนั้น

       นอกจากนี้ จีนยังมีอีกหลายนโยบายสำคัญที่ออกมาเพื่อเตรียมรับมือกับอเมริกา และพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นผู้นำ ตัวอย่างอย่างเช่น “นโยบาย Mega Regions” ที่นำ 3-4 เมืองใหญ่ของจีนมารวมกัน และเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง  โดยจีนได้วางแผนพัฒนา Mega Regions  3 คลัสเตอร์เมืองใหญ่ ซึ่งคิดเป็น 40% ของ GDP จีน   ได้แก่

1.พื้นที่ Jing-Jin-Ji (ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย)

2.พื้นที่ Yangtze river delta (เซี่ยงไฮ้ –เจ้อเจียง-เจียงซู-อันฮุย) 

3.พื้นที่ Pearl River Delta (กว่างโจว,-ฮ่องกง-มาเก๊า)

สงครามการค้าระหว่างจีน-US เกมนี้จะจบลงอย่างไร ?

          จากตัวเลขในปี 2017 จีน-สหรัฐ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ประมาณ 6.56 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 80%

          และหากเทียบฟอร์มในระดับโลกที่ทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จะพบว่า ในปี 2017 สหรัฐอเมริกามีมูลค่าส่งออกไปทั่วโลกกว่า 1.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ 8.4%

          ขณะที่จีนมีมูลค่าส่งออกไปทั่วโลกกว่า 2.26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดอเมริกามีสัดส่วนอยู่ที่ 19%

          ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มซีพี ฉายตัวเลขให้เห็นถึงต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐ ถอยหลังจากนโยบายการค้าเสรีที่เดินหน้าผลักดันมานับสิบๆปี แล้วกลับมาสร้างเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้มาตรการขึ้นกำแพงภาษี

           “ ถ้าสหรัฐสามารถสร้าง Trade Balance กับจีน กระชับระยะห่างสัดส่วนการค้าระหว่างกันได้มากขึ้นเท่าไหร่ อเมริกาจะมีสัดส่วนการส่งออกสูงขึ้นใกล้เคียงกับจีนมากขึ้นเท่านั้น…เป็นการดึงให้คู่แข่งช้าลง ขณะเดียวกันก็ดึงตัวเองให้มีศักยภาพความเป็นผู้นำสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน” ศุภชัยวิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่สำคัญของการเปิดสงครามการค้า ก่อนจะมีการสงบศึกชั่วคราว โดยเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีออกไป จนทำให้ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจทั่วโลกตอบรับในทิศทางที่ดี

           “ อย่างไรก็ดี ในอเมริกามีศัพท์อยู่คำหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องคิดอีกที เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งปีนี้ด้วย นั่นคือ “Tariffs  are  taxes on Americans” ภาษีการนำเข้า ก็คือภาษีของชาวอเมริกัน คนที่จ่ายภาษีไม่ใช่จีน แต่คนอเมริกันเอง พูดง่ายๆ คือทำให้คนอเมริกามีต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้น ถ้าปรับภาษีขึ้น 25% ไม่รู้ว่าจีนจะเจ็บ หรืออเมริกาจะเจ็บกว่า โดยเฉพาะในช่วงของการเข้าสู่การเลือกตั้งของอเมริกา อันนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่า แนวโน้มของการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางประนีประนอมสูงขึ้น

          แต่จากตัวเลขสัดส่วนดุลการค้าการส่งออก หรือ Trade Balance ระหว่าง 2 ประเทศที่ยังห่างกันมาก ทำให้ยังไงก็แล้วแต่ อเมริกาจะไม่รามือง่ายๆ เพราะยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ อเมริกาเติบโตขึ้น ในขณะที่จีนชะลอตัวลง”

         อย่างไรก็ตาม แม้การถดถอยลงของภาคการส่งออก อาจะทำให้เศรษฐกิจจีนโตช้าลงไปบ้าง แต่จีนเองก็พยายามวิวัฒน์ระบบเศรษฐกิจของตัวเอง เนื่องจากมีฐานการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumtion) ที่ค่อนข้างใหญ่มากและจีนเองก็พยายามโปรโมทตรงนี้ให้เพื่อสร้างฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง

        แต่ถามว่า ไปถึงจุดนั้นหรือยัง ก็อาจจะยังไม่สักทีเดียว ยังต้องอาศัยการลงทุนและส่งออก ซึ่งฐานการส่งออกของจีนนั้นมีขนาดใหญ่มากในตลาดโลก ดังนั้น ต่อให้ถูกอเมริกาบีบยังไง จีนก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อยู่ดี

       ประธานกลุ่มซีพี ยังกล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปีที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นเรื่อง Trade war ที่ทุกคนเป็นห่วง อีกเรื่องที่พูดถึงกันมาก คือ เรื่องของการเติบโตของอาเซียนที่มีประชากรถึงเกือบ 700 ล้านคน รวมถึงการยอมรับว่า โลกได้มีผู้นำทางเศรษฐกิจอีกรายหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือจีน

      “ ปีนี้ หลายคนมองว่า Trade War ก็คงจะเกิดขึ้น แต่มีข้อสรุปคล้ายๆกันว่า น่าจะหาข้อสรุปได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี”

       ศุภชัยบอกว่า Trade War ระหว่างจีนกับอเมริกา จะจบลงที่ตรงไหน ? ยังเป็นอนาคตที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ แต่หากดูจากความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์การค้าระหว่างจีนกับอเมริกานั้นถือได้ว่ามีความใกล้ชิดกัน จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยซ้ำ  การที่จีนมีฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่งคงและทั่วถึงเกือบทุกอุตสาหกรรม จึงแตกต่างจากรัสเซีย   ดังนั้น การใช้มาตรการแทรกแซงการค้ากับจีน จึงไม่ค่อยมีผลเหมือนที่สหรัฐเคยทำกับประเทศอื่นๆ

       “ผมคิดว่า ลึกๆแล้วอเมริกาก็ยอมรับในจุดนี้  ความเป็น Partnership โดยธรรมชาติ ระหว่างจีนกับอเมริกาจะทำให้เกิดการประนีประนอม และนำไปสู่แผนงานที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ ผมอาจจะมีมุมมองในแง่บวกนิดหนึ่ง เพราะกรณีนี้ไม่เหมือนกับกรณีอื่นๆที่เคยเกิดขึ้น” ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ มองเช่นนั้น

ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ..โอกาสทองของอาเซียน

       ขณะที่อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องจับตา คือ การผลักดันนโยบาย One Belt One Road ของจีนเพื่อรับมือนโยบายการกีดดันทางการค้าของสหรัฐ โดยมีนิมิตรหมายใหม่ของการเข้ามาร่วมมือเป็นพันธมิตรจากญี่ปุ่น ซึ่งมองถึงความเป็นไปได้ร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการเข้าไปลงทุนในประเทศที่สาม นับเป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC  เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นฮับ มีการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคไปถึงจีน เวียดนาม พม่า ไปถึงมาเลเซีย

        ทั้งหมดนี้ จึงมีความสอดคล้องกับนโยบายที่จีนต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นในภูมิภาค ในประเทศที่จีนถือว่าเป็นพันธมิตรและต้องการเติบโตไปพร้อมๆกัน ภายใต้โครงการ One Belt One Road”

         “ ยิ่งอเมริกากดดันจีนเท่าไหร่ ยิ่งทำให้จีนพยายามพัฒนาประเทศตัวเองให้เข้มแข็ง จับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงในระดับภูมิภาคมากขึ้นเท่านั้น”

         “อเมริกาเอาปูนซีเมนต์มาให้จีน” เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยของประธานอาวุโสกลุ่มซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งศุภชัยได้หยิบยกมาอธิบายให้เห็นภาพว่า “ ในประเทศจีนวันนี้ มีเหล็กกับหินมากมาย แต่ถ้าอยู่ร่วมกันนานๆอาจจะมีความขัดแย้งขึ้นในประเทศ แต่พออเมริกากดดันมากๆ ทำให้คนทั้งประเทศมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และทำให้เสถียรภาพในการบริหารประเทศของจีนมีความมั่นคงมากขึ้น

         ..อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะครับ ว่าจริงๆแล้วมันก็มีผลดีกับประเทศจีน และแน่นอนว่า ถ้าอเมริกาทำสำเร็จ ก็มีผลดีกับอเมริกาด้วยเหมือนกันในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่มีต่อภูมิภาคในทางที่เป็นบวก ซึ่งผมมองว่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทย”

         ศุภชัย ชี้ให้เห็นว่า โอกาสหลักๆของไทยก็คือความเป็น“ฮับของอาเซียน” ท่ามกลางสงครามทางการค้าโลกที่ยังไม่มีตอนจบ ทำให้หลายโรงงานของต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในจีนเตรียมย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย เช่นเดียวกับหลายๆโรงงานที่มีฐานการผลิตในอเมริกา การที่ทั่วโลกมองว่าภูมิภาคอาเซียนกำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นดาวเด่น จึงเป็นถือเป็นโอกาสที่สำคัญของไทย แต่ขณะเดียวกันไทยเราก็มีความเสี่ยง เพราะหลายประเทศก็ไม่ได้มองไทยประเทศเดียว แต่ยังมองไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น  ดังนั้น ความมั่นคงทางการเมือง ความเป็นปึกแผ่นของไทยจึงเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมาก

         “ ผมอยากจะฝากให้ทุกท่านคิดกันในเรื่องนี้ว่า  หากบ้านเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การเมืองต่างประเทศจะเห็นโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้หรือไม่?  อันนี้ ผมฝากให้ทุกท่านคิด แล้วการเมืองระดับโลกที่ทั้งสองมหาอำนาจ จีนและสหรัฐกำลังมีความขัดแย้งกันอยู่นี้ จะมองว่าประเทศไทยเห็นโอกาสของเขาหรือไม่ ในการแผ่ขยายอิทธิพล หรือสร้างฐานพันธมิตรในระดับการเมืองโลกในภูมิภาคนี้” ประธานกลุ่มซีพี ทิ้งท้ายจบปาฐกถาด้วยประเด็นชวนคิด

                                                                  —————————————————

 

ชม VDO ฉบับเต็ม  ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก” โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5 มีนาคม 2562

Source VDO : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Your email address will not be published. Required fields are marked *