ไทย-ยูนนาน สานสัมพันธ์ทุกมิติ

5 ประเด็นน่าสนใจจากการเดินทางเยือนไทยของ เฉิน หาว  เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนาน ซึ่งถือเป็นประตูสู่จีนที่ตั้งอยู่ใกล้ไทยมากที่สุด ภายหลังการพบปะหารือกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ ชุติมา บุณยประภัศร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย

1. ไทย-จีน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน คมนาคม พลังงาน การเชื่อมโยง เทคโนโลยีระดับสูง เทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล นวัตกรรม สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และสุขภาพ

2. ฝ่ายจีนแสดงความสนใจที่จะชักชวนนักลงทุนมาลงทุนใน EEC ของไทย โดยเชื่อมโยง EEC กับเขตพัฒนาใหม่เตียนจง (Dian Zhong New Area) ของมณฑลยูนนาน

3 . ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทย – ยูนนาน ตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น ลาว เมียนมา อินเดีย การเชื่อมไทย – ลาว – จีน ซึ่งไทยมีนโยบายที่จะเชื่อมโยงกับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Greater Bay Area – GBA) ของจีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย หารือความร่วมมือไทย-จีนกับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนานและประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

4. กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้มณฑลยูนนาน ซึ่งมีนครคุนหมิงเป็นหนึ่งใน “เมืองแห่งการนำร่องการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน”ของจีน ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อย ให้สามารถขยายตลาดในจีน ตลอดจนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คุ้มครองและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

5. ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือกันเพื่อผลักดันมูลค่าการค้าไทย – จีนสู่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 จากในปี 2561 มีมูลค่าที่ 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ

มณฑลยูนนานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ถือเป็นมณฑลใกล้กับไทยมากที่สุด สามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างกันด้วยถนนหลวง R3A โดยยูนนานมีพรมแดนกว่า 4,000 กิโลเมตร ติดกับเมียนมา ลาว และเวียดนาม  มีประชากรกว่า 48 ล้านคน จีดีพีอยู่ที่ 270,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเศรษฐกิจมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 8.9

ด้วยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ มณฑลยูนนานจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์บน “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เชื่อมจีนสู่อาเซียนและเอเชียใต้ผ่านการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เส้นทางรถไฟและถนน ด้านกฎระเบียบ (การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน) และด้านเทคโนโลยี (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)  รวมทั้งยูนนานยังมีการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย
                                                                                                               ——————-

Your email address will not be published. Required fields are marked *