



เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา นายเทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ อุปนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และดร.อำมร เชาวลิต อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทยฉงจั่ว โดยมีกำหนดการเยี่ยมชมศูนย์จัดแสดงแผนผังของนิคมฯ โรงงานน้ำตาล East Asia Sugar และ Hao Qing Chun Sugarcane Vinegar Industry Co., Ltd. เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน จุดแข็งด้านที่ตั้ง ทรัพยากร เศรษฐกิจท่าเรือ ช่องทางโลจิสติกส์ของนิคมฯ รวมทั้งนโยบายสิทธิพิเศษต่างๆจากประเทศและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งครั้งนี้ นายเย่ หย่งปิน รองประธานคณะกรรมการบริหารเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทยฉงจั่วได้ติดตามไปด้วย
เมืองฉงจั่วมีโอกาสการพัฒนามานานแล้ว เป็นฐานผลิตน้ำตาลอ้อยที่สำคัญของประเทศ คิดเป็น 1/3 ของทั้งมณฑล และ 1/5 ของทั้งประเทศ มีการตัดอ้อยสดเข้าหีบสูงสุดในประเทศ 15 ฤดูการผลิตติดต่อกัน มีปริมาณแร่แมงกานีส 165 ล้านตันสูงสุดในประเทศ ทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อต่างๆ เช่น ด่านโหย่วอี้กวน น้ำตกเต๋อเทียน ภาพเขียนที่ผาลาย ฯลฯ เป็นโซนศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชายแดนกว่างซี ในปี 2561 เมืองฉงจั่วติดอันดับเมืองแห่งมนต์เสน่ห์ ประจำปี 2561 ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ในปีเดียวกัน ยอดนำเข้า-ส่งออกอยู่ที่ 147,569 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.4% ครองอันดับ 1 ของกว่างซี 10 ปีซ้อน
ในปี 2561 มูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ที่ 4.333 หมื่นล้านหยวน มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมแมงกานีส 1.335 หมื่นล้านหยวน มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม้ 1.26 หมื่นล้านหยวน มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมแปรรูปท่าเรือ 1.032 หมื่นล้านหยวน มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเคมี 1.031 หมื่นล้านหยวน โรงงานระดับโลกต่างเลือกเข้ามาลงทุนที่นี่ ทั้งยังบ่มเพาะธุรกิจแนวหน้าต่างๆ เช่น น้ำตาลมิตรผล COFCO,Angel Yeast,Lesaffre,CITIC Dameng,Guangxi Xin-Manganese Group Co.,Ltd.,Prince,CHINALCO, Nanguo ทองแดง ซึ่งมีรากฐานและศักยภาพในการเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมมีความยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง
ใช้จุดแข็งด้านที่ตั้ง เพื่อมอบแพลตฟอร์มที่ดีให้แก่การพัฒนาธุรกิจ ฉงจั่วติดชายแดน ใกล้ทะเล ชิดเมืองเอก เชื่อมโยงอาเซียน ห่างจากสนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง 70 กิโลเมตร มีรถไฟความเร็วสูงสายเซียงกุ้ย (หูหนาน-กว่างซี) แล่นผ่าน ทางด่วนหนานหนิง-ด่านโหย่วอี้กวนเชื่อมโยงกับทางหลวงหมายเลข 1 ของเวียดนาม ทางด่วนฉงจั่ว-ชินโจวมุ่งตรงไปถึงท่าเรือชินโจว ทางด่วนฉงจั่ว-จิ้งซี-ยูนนาน เปิดให้สัญจรในปี 2558 ส่วนทางด่วนฉงจั่ว-สุยโข่ว ก็ใกล้สร้างแล้วเสร็จ นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟสายหนานหนิง-ฉงจั่วเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว แม่น้ำจั่วเจียงจะมีการขุดลอกเพิ่มเติม รูปแบบการคมนาคมที่ติดกับชายแดน ทะเล เส้นทางบิน และเส้นทางทะเลค่อยๆก่อตัวขึ้นแล้ว ด้วยจุดแข็งด้านที่ตั้ง ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยด้านวัตถุดิบและตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังมีทรัพยากรแรงงาน ช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาธุรกิจ ปัจจุบันเมืองฉงจั่วมีแรงงานส่วนเกินในชนบทกว่า 1.4 แสนคน มีร้อยละ 80 มีอายุระหว่าง 25-50 ปี นับว่ามีทรัพยากรแรงงานในท้องถิ่นเพียงพอ แรงงานที่ออกไปทำงานต่างถิ่น 5.5 แสนคน เศรษฐกิจและสังคมของฉงจั่วที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงงานที่ออกไปทำงานต่างถิ่นหันกลับมาบ้านเกิดเพื่อทำงานและสร้างตัว ขณะเดียวกัน ทางฉงจั่วยังลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานข้ามพรมแดนกับลางซอนและกาวบั่งของเวียดนาม ในปี 2561 เมืองฉงจั่วเห็นชอบที่จะใช้แรงงานเวียดนามเกือบ 1 แสนคน มีคนเวียดนามเข้าประเทศมากสุด 10,000 คน/วัน ช่วยเสริมทรัพยากรแรงงานให้แก่ธุรกิจอย่างเต็มที่
ใช้จุดแข็งด้านนโยบายที่โดดเด่น เพื่อช่วยลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การพัฒนาธุรกิจ ฉงจั่วมีนโยบายสิทธิพิเศษมากมาย เช่น เปิดกว้างชายแดน พัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน นโยบายปกครองตนเองในเขตพื้นที่ของชนชาติ เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้หรืออ่าวตังเกี๋ย เขตเศรษฐกิจซีเจียง-จูเจียง ฟื้นฟูเขตปฏิวัติเก่าลุ่มแม่น้ำจั่วเจียง-โย่วเจียง ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายพิเศษสำหรับเมืองชายแดน รวมทั้งนโยบายยกเว้นภาษีตลาดการค้าชายแดน และการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ธุรกิจหันมาลงทุนในนิคมฯ เมืองฉงจั่วยังประกาศนโยบายเชิงสนับสนุนต่างๆ เช่น การแปรรูปถั่ว การแปรรูปไม้ พลังงานใหม่วัสดุใหม่ เขตความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่างสองช่องแคบไต้หวันในนิคมฉงจั่วฯ ทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการเงิน ที่ดิน ตรวจสอบและอนุมัติ การใช้แรงงาน ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ซึ่งช่วยลดต้นทุน ลดภาระ และกระตุ้นพลังใหม่ในการสร้างสรรค์ให้แก่ธุรกิจ