12 ต.ค. 2546 เป็นวันแรกที่คนไทยได้รู้จักกับคู่หมีแพนด้า “ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย”ทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน ที่เดินทางจากจีนมาถึงเชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ TG 8809 “เรารักแพนด้า” มีพิธีขบวนแห่ยิ่งใหญ่จากท่าอากาศยานนานาชาติ เชียงใหม่ ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ เวลา 17.25 น.
จุดเริ่มต้นของการทูตแพนด้าเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน เริ่มต้นขึ้นในปี 2544 ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ได้ได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ
โดย ช่วงช่วง- หลิน ฮุ่ย ถือเป็นแพนด้าคู่แรกในเมืองไทย และเป็นแพนด้าคู่สุดท้ายที่ประเทศจีนอนุมัติให้ออกนอกประเทศโดยก่อนหน้านั้นมีแพนด้าอยู่ในประเทศต่าง ๆ เพียง 5 ประเทศเท่านั้น
สำหรับข้อตกลงระหว่างไทยและจีน คือ ไทยจะต้องดูแลหมีแพนด้าเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร และในช่วงระยะเวลา 10 ปี จะมีการทำวิจัยในด้านต่างๆ เช่น การเจริญเติบโต การกินอาหาร การผสมพันธุ์ การปรับสภาพเข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดแสดงหมีแพนด้าในไทย
ช่วงช่วง เป็นแพนด้ายักษ์เพศผู้ รหัส 510 เกิดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2543 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน พ่อชื่อ ซิน ซิ่ง รหัส 329 แม่ชื่อไป๋เสวีย รหัส 418
ขณะจากบ้านเกิดมาอยู่เมืองไทย ช่วงช่วงอยู่ในวัย 3 ขวบ น้ำหนัก 106 กก. โดยสวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการสร้างสถานที่พักและส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าขึ้น(ควบคุมอุณหภูมิ) ในพื้นที่ 4 ไร่ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันที่ 20 พ.ย. 2546
ชื่อ ช่วง ช่วง ( อักษรจีนตัวย่อ: 创创, Chuàng Chuàng) ในภาษาจีน หมายถึง ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคู่หมีแพนด้ามาอยู่เมืองไทย ได้มีการตั้งชื่อทางการในภาษาไทยให้ช่วง ช่วง ว่า “เทวัญ” และตั้งชื่อในภาษาล้านนาว่า “คำอ้าย” ส่วนหลินฮุ่ย มีชื่อไทยว่า “เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า “คำเอื้อย”
แพนด้าทั้งคู่ถูกเลี้ยงไว้ในห้องกระจกติดแอร์เย็นฉ่ำ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างราว 46 ล้านบาท และได้กินใบไผ่ (พันธุ์จีนซึ่งสามารถปลูกได้ในเมืองไทย) วันละ 30 กิโลกรัม
ตลอดเวลาที่ ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ทางทีมสัตวแพทย์ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะให้แพนด้าทั้งสองผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนต้องใช้วิธีผสมเทียมถึง 3 ครั้ง จึงประสบความสำเร็จ
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 หลินฮุ่ยก็ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าน้อยเพศเมียจำนวน 1 ตัว มีชื่อว่า “หลินปิง” โดยวิธีผสมเทียม จากน้ำเชื้อของ “ช่วงช่วง” สร้างชื่อเสียงและผลงานให้องค์การสวนสัตว์ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมหมีแพนด้า โดยลูกแพนด้าที่เกิดจากผสมเทียม มีชื่อว่า “หลินปิง” เป็นชื่อที่ได้จากการโหวตของคนไทยทั้งประเทศ
ช่วงช่วง ถึงดื้อก็น่ารัก : มีข้อมูลจากหนึ่งในทีมผู้ดูแลหมีแพนด้ายักษ์ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้เคยกล่าวถึงลักษณะนิสัยของช่วงช่วงว่า
“ช่วง ช่วง เป็นหมีที่ค่อนข้างดื้อ เอาแต่ใจ เช่นถ้าไม่โยนไผ่จนถึงตัวก็จะไม่ลุกมาเอา หรือถ้าจะลุกก็จะเดินหนีไปเลยไม่ยอมกินแล้วก็เกิดอาการ “งอน” แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ดีก็น่ารักและถือว่าเป็นหมีที่ค่อนข้างฉลาดคือรู้จักวิธีที่จะได้กินผลไม้ เช่น วิ่งไปวิ่งมาเรียกร้องความสนใจ ให้เราหยุด พร้อมกับเอาผลไม้อย่างแอปเปิ้ลสีแดงซึ่งเป็นของโปรดเขามาล่อ ก็เป็นอันว่าช่วง ช่วง ได้กินผลไม้เรียบร้อยโรงเรียนหมีไป”
ปี 2556 ไทยต้องส่งคู่แพนด้า “ช่วงช่วง –หลินฮุ่ย” คืนให้กับจีนตามสัญญาการจัดแสดงเวลา 10 ปีในปี 2556 แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้จีน ได้ต่อสัญญารอบใหม่ ให้ช่วง ช่วง-หลินฮุ่ย อยู่ในเมืองไทยต่อไปได้อีก 10 ปี ในช่วงปี 2556-2566 รวมเป็น 20 ปี
แต่น่าเสียดาย เมื่อค่ำวันที่ 16 ก.ย. 62 มีข่าวเศร้าเกิดขึ้นว่า ช่วงช่วง จากไปอย่างกระทันหันหลังจากกินอาหารแล้วลุกเดินภายในส่วนจัดแสดง ด้วยวัย 19 ปี โดยไม่มีอาการป่วยมาก่อน และเพิ่งจัดกิจกรรมฉลองวันเกิดครบ 19 ปีให้กับช่วงช่วงไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.62
ล่าสุด สวนสัตว์เชียงใหม่ แถลงข่าวเช้าวันนี้ (17 ก.ย.) ยังไม่สรุปสาเหตุการเสียชีวิต โดยตามสัญญาต้องรอทีมสัตวแพทย์จากจีนมาร่วมผ่าชันสูตรซากที่จัดเก็บไว้ที่โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่ แต่ได้รายงานให้รัฐบาลจีนทราบแล้ว
ตลอด 16 ปี ที่ผ่านมาคู่หมีแพนด้า “ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย” ได้กลายเป็นขวัญใจของคนไทย มีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 15 ล้านคน สามารถสร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์เชียงใหม่ กว่า 295 ล้านบาท
วันนี้แม้ ช่วงช่วง จะจากไปแล้ว แต่เรื่องราวของมันยังคงอยู่ในใจของคนไทยส่วนใหญ่ไปอีกนานเท่านาน
——————–
อ้างอิง
https://mgronline.com/travel/detail/9620000089328
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000089295