“ ลินเข้ามาทำ senada ตอนปี 2558 พูดได้เลยว่า สนามการแข่งขันต่างจากเมื่อ 20 ที่ปีที่แล้ว เพราะตอนนี้ ขั้วหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคือประเทศจีน” ลิน-สิรินดา ปรีชาวิทยากุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สตรองเวฟส์ จำกัด ทายาทแบรนด์ senada เล่าถึงจุดเปลี่ยน
“ จากเดิมที่ในยุคคุณแม่ ธุรกิจของเราเน้นขายในประเทศและส่งออก เรามีโชว์รูปที่ปารีส ส่งออกไปยุโรป ญี่ปุ่น รัสเซีย แต่ไม่เคยส่งออกไปจีน


แต่ตอนนี้ ธุรกิจของ senada เกี่ยวข้องกับจีนทุกยูนิต คอลเลคชั่นแรกที่ส่งออกไปจีน คือ Autumn/Winter 2016 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องถือว่าเราเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างโชคดีมาก เพราะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาซื้อสินค้าที่หน้าร้านเราในเมืองไทยเยอะมาก จนทำให้มีกระแสบอกต่อในออนไลน์ว่า ถ้ามาเมืองไทย senada เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่ต้องมาซื้อ ทำให้เราเป็นที่จับตามอง จนมีโชว์รูมที่กว่างโจวติดต่อเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์”
สิรินดา เล่าว่า ปัจจุบัน 95% ของลูกค้าที่เป็น member ของ senada สาขาสยามเซ็นเตอร์ คือ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่วัย 20 ต้นๆ เพิ่งเรียนจบ ทำงานหาเงินได้ มาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ทำให้หน้าร้าน senada ในเมืองไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับลูกค้าชาวจีน ทั้งในด้านการสื่อสารภาษาจีน และระบบการชำระเงินที่รองรับ Alipay และ WeChatPay เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจีน นอกจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากพลังในโลกโซเชียล ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่มาตามหาซื้อชุดเดียวกันกับที่บล็อกเกอร์จีนใส่ รวมถึงคนจีนที่หันมาทำอาชีพรับจ้างซื้อของในเมืองไทย พ่อค้าแม่ค้าบางคนมาไลฟ์สดขายของกันในสยามเซ็นเตอร์เลยก็มี
“ ส่วนใหญ่ลูกค้าชาวจีนจะพูดถึงแบรนด์เราว่า ใส่แล้วน่ารัก ดูคุณหนู เพราะเสื้อผ้าของเรามีความเป็นผู้หญิงสูงมาก ทั้งเรื่องการใช้สีและดีเทลต่างๆ เช่น มีโบว์ มีระบาย ซึ่งตอนนี้ ตลาดแฟชั่นจีนเริ่มมีดีมานด์ใหม่ๆของคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวเองสูง ต้องการใส่เสื้อผ้าไม่เหมือนใคร อยากหาทางเลือกใหม่ๆที่ไม่ใช่แมสแบรนด์ จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ที่มีความสร้างสรรค์ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน” สิรินดา เล่าถึงโอกาสของแบรนด์ไทยดีไซเนอร์อย่าง senada ที่มีความเป็นผู้หญิงและกลิ่นอายวินเทจ มีลายพิมพ์ผ้าและลายปักผ้าของตัวเอง


3 ปีที่ผ่านมากับการเริ่มต้นส่งออกไปตลาดจีน มีบทเรียนมากมายที่ senada ได้เรียนรู้และนำมาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ในงาน Asia Lifestyle Expo 2019 ที่ผ่านมา กฎเหล็กที่ได้เรียนรู้เวลาทำงานกับจีน คือ “When in China,do as the Chinese do.” การเข้าไปทำธุรกิจกับประเทศใดก็ตาม ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม กฎระเบียบ และสังคมของประเทศนั้นๆ”
ความแตกต่าง 3 ด้านหลักๆที่สิรินดาพบในการทำธุรกิจแฟชั่นในจีน ได้แก่ หนึ่ง..Busuness Model วิธีการทำงานและระบบการทำงานที่ไม่เหมือนกับการส่งออกไปประเทศอื่นๆ รวมถึงรูปแบบการดีลธุรกิจกับโชว์รูมในจีนที่มี
ให้เลือกทั้งแบบ Sales Representative และ Distributer ซึ่งแตกต่างกันที่เงื่อนไขในการจัดส่งสินค้าและค่าคอมมิชชั่น สอง..Timeline/Schedule แฟชั่นวีคของจีนที่จัดช้ากว่าแฟชั่นวีคหลักของโลก ทั้งนิวยอร์ค ลอนดอน มิลาน ปารีส แต่รอบการขายมีมากกว่า 2 คอลเลคชั่น เอเย่นต์จีนสามารถขายของให้ได้ตลอดทั้งปี แตกต่างจากที่อื่นๆ สาม..Marketing Tools& Content ช่องทางออนไลน์ในจีนมีอิทธิพลสูงในการทำตลาด โดย 3 เครื่องมือการตลาดที่สำคัญและมีความแตกต่าง ได้แก่
“ ช่วงแรกๆ เราใช้ดาราไทยที่ไปโด่งดังในจีน มีแฟนๆชาวจีนชอบเยอะอย่าง“ออม สุชาร์” แต่คนจีนบอกว่า ต่อให้คุณเอาดาราดังที่เป็นกระแสระดับโลกมาใส่เสื้อคุณ เขาก็ไม่แคร์ เพราะยังไงก็ไม่เหมือนกับคนจีนด้วยกันใส่ ดังนั้น วิธีการทำตลาดจูงใจให้คนจีนซื้อของ ยังไงก็ต้องใช้คนจีน ใครจะไปขายสินค้าที่ค่อนข้างพรีเมี่ยมและมีดีไซน์ แนะนำว่าให้กันงบไว้เลยสำหรับลงสปอนเซอร์กับดาราจีนและอินฟลูเอนเซอร์จีน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ดี และส่งผลย้อนกลับมาที่ตลาดเมืองไทยด้วย”
2.ช่องทางสื่อแฟชั่น Local online website ในจีน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องใช้เพราะมีคนจีนนิยมเข้าไปอ่านเยอะกว่าช่องทางที่เป็นสื่อแฟชั่นทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง Vogue หรือ Elle
3.ช่องทางโซเชียลมีเดียของจีนไม่เหมือนกับไทย แพลตฟอร์มที่สำคัญนอกจาก WeChat และ Weibo แล้วยังมี LITTLE RED BOOK (เสี่ยวหงซู) ที่มาแรงคล้ายๆกับอินสตาแกรมในไทย
“ นอกจากการรู้จักใช้เครื่องมือการตลาดต่างๆแล้ว การทำมาร์เก็ตติ้งที่ดียังต้องกินใจคน โดยเฉพาะในช่วงโอกาสเทศกาลสำคัญของจีน ซึ่งนอกจากเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังมีช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ของจีนในเดือนสิงหาคมของทุกปีที่แบรนด์ต่างๆมีการทำคอนเทนต์ หรือโปรโมชั่นที่สอดรับกับเทศกาลที่ผ่านมา senada เอง เราเป็นแบรนด์ที่ไม่เคยทำสีแดงมาก่อน แต่พอมาทำตลาดจีน ยังไงก็ต้องมีสีแดงในช่วงเทศกาลตรุษจีน และต้องพยายามเลี่ยงสีขาว ซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์ของคนจีน”
ท้ายที่สุด ในมุมมองของสิรินดา ทิศทางตลาดแฟชั่นในจีนยังมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกไกล คำว่าไทยแฟชั่นยังเป็นสินค้าที่พรีเมี่ยมในความรู้สึกของลูกค้าชาวจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ที่มีอัตลักษณ์และความสร้างสรรค์ แต่การเข้าไปทำธุรกิจเองไม่ง่าย จำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์ที่ดีในการช่วยผลักดันตลาด


“ อย่าง senada เอง แม้เราจะขายกับโชว์รูมในจีนได้ 7 ซีซั่น แต่พอพาร์ทเนอร์เปลี่ยนทิศทางการขายของโชว์รูม ทำให้เราเองต้องเริ่มต้นหาพาร์ทเนอร์ใหม่ในเซี่ยงไฮ้ที่ ซึ่งปรากฎว่าได้ออเดอร์กลับมาเยอะมาก ทั้งๆที่โชว์รูมเก่าบอกว่าผลตอบรับไม่ดี การทำตลาดในจีนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่มีสูตรสำเร็จ สิ่งสำคัญ คือ ต้องหาพาร์ทเนอร์หรือทำการค้ากับคนที่เชื่อมั่นในเราและสินค้าเรา มีทิศทางและวิชั่นในการทำธุรกิจที่ตรงกัน” สิรินดา กล่าว