

ผลไม้คุณภาพนานาชนิดเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของสินค้าคัดสรรจากเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคที่ลูกค้าในเมืองสามารถมาเดินเลือกซื้อเลือกหาได้ที่ “ตลาดน้ำ อ.ต.ก.” (Ortorkor Floating Market) ตลาดเกษตรกรแห่งใหม่ใจกลางกรุงที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรจากทั่วประเทศมาพบปะผู้ซื้อได้โดยตรง ใครชอบผลไม้มาแล้วรับรองไม่ผิดหวัง
ผักผลไม้ที่นี่ สดจากไร่ เก็บใหม่จากสวน ขายในราคาที่เป็นธรรม เพราะเป็นการขายจากเกษตรกรตัวจริง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งแต่ละร้านจะสลับหมุนเวียนกันไปรอบละ 15 วัน เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร บริเวณริมคลองบางซื่อ ตลาด อ.ต.ก.พหลโยธิน
“ เราใช้คอนเซ็ปต์ว่า ตลาดน้ำ อ.ต.ก. ตลาดสินค้าเกษตรใจกลางกรุง เพราะจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นตลาดของเกษตรกรอย่างแท้จริง ในรูปแบบการจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรจากทั่วประเทศ หมุนเวียนมาจำหน่ายสินค้ารอบละ 15 วัน
จุดเด่นของตลาดที่นี่ คือ เกษตรกรปลูกเองขายเอง อย่างเช่นทุเรียนที่เจ้าของสวนจากชุมพรมาขายด้วยตัวเอง ลองกองบันนังสตาจากยะลา รวมถึงสินค้าผลผลิตเกษตรที่พัฒนาใปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สินค้าหัตถกรรม ผ้าพื้นเมืองต่างๆ อาหารเชิงปราณีต ของดีของเด่นจากท้องถิ่นต่างๆ”
กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เล่าถึงโครงการจัดตั้งตลาดน้ำ อ.ต.ก.ริมคลองบางซื่อ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของ อ.ต.ก. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีบทบาทให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านการตลาด เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ภายใต้วิสัยทัศน์“มุ่งสู่การเป็นตลาดที่มีมูลค่าสินค้าเกษตรไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2564”
“ เป้าหมายของ อ.ต.ก. คือ การช่วยให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปรับเปลี่ยนจากการผลิตในเชิงปริมาณ มาเป็นผลิตในเชิงคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การตลาดนำการผลิต
แนวคิดของการจัดตั้งตลาดน้ำ อ.ต.ก. คือ การขยายโอกาสให้กับเกษตรกร ได้มีช่องทาง“หน้าร้าน” โดยมีตลาดน้ำ อ.ต.ก.เป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้าหมุนเวียน โปรโมทของดีแต่ละจังหวัด เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาค ได้มีโอกาสหมุนเวียนนำสินค้าเกษตรคุณภาพเข้ามาจัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ และเรียนรู้ระบบตลาดอย่างครบวงจร ตามแนวนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล เกษตรกรปลูกเอง ขายเอง จำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
พร้อมทั้งสร้างโอกาสขยายตลาดต่อเนื่องในระยะยาว ผ่านการเชื่อมโยงช่องทางจำหน่ายออฟไลน์กับออนไลน์ โดยลูกค้าทั้งในและต่างประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิต ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ อ.ต.ก. อาทิ เว็บไชต์ ortorkor.com , บริการ ‘อ.ต.ก.เดลิเวลี่’ และ แอพพลิเคชั่น ‘ปลูกเองขายเอง’




ผอ.กมลวิศว์ ย้ำว่า วันนี้ เราต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ได้เรียนรู้การบริหารจัดการ ใช้การตลาดนำการผลิต สามารถบริหารจัดการกันเอง ดูแลกันเอง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า
โครงการตลาดน้ำ อ.ต.ก. จึงจัดตั้งขึ้น ภายใต้ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. เกษตรกรมีพื้นที่ในการนำสินค้ามาจัดแสดงและจำหน่าย 2.ผู้บริโภคได้มีโอกาสพบปะ เลือกซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และ 3.ผู้ประกอบการทั่วประเทศ สามารถเลือกซื้อวัตถุดิบคุณภาพ หรือสั่งผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเอง โดยติดต่อกับเกษตรกรที่มาจากทั่วทุกภูมิภาคได้โดยตรง
“ ผลตอบรับที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ คือ หลายๆสินค้าเริ่มมีผู้ประกอบการเข้ามาสั่งออเดอร์จากเกษตรกรโดยตรงแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผ้าพื้นเมือง, เครื่องแกง, ข้าวสาร ,ผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ นั่นหมายความว่า นอกจากตลาดน้ำ อ.ต.ก.จะเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าแบบ B2C ระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ที่นี่ยังเป็นช่องทางในการทำตลาดแบบ B2B เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการอีกด้วย”
สำหรับแผนงานในระยะต่อไป ในอนาคต อ.ต.ก.ยังมุ่งหวังผลักดันให้ “ตลาดน้ำ อ.ต.ก.”เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ โดยมีแผนพัฒนาคลองบางซื่อให้เป็นคลองสวยน้ำใส โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร และชุมชนโดยรอบ ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางปี 2563 จะเริ่มเห็นภาพการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่เริ่มนำร่องเปิดร้านค้าบนบกในตลาดน้ำ อ.ต.ก.ไปแล้วเฟสแรก และในช่วงปลายปีนี้ จะเริ่มนำร่องจัดกิจกรรมในคลองบางซื่อ
“ คนไทยถือว่าน้ำคือชีวิต ธุรกิจการค้าต่างๆก็เริ่มมาจากริมน้ำ เราจึงอยากนำเอาวิถีชีวิตริมน้ำแบบดั้งเดิมของคนไทย มาผสานกับตลาดเกษตรกรใจกลางกรุง เพื่อเป็นแลนด์มาร์คดึงดูดการท่องเที่ยวแห่งใหม่




ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในตลาดน้ำ อ.ต.ก. จะต้องผ่านการรับรองคุณสมบัติจากเกษตรจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด หรือเป็นสินค้าโอท็อป โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อมาได้ที่ อ.ต.ก. โดยตรง หรือประสานผ่านเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2279-2080-9 ต่อ 103,104