เขตท่าเรือสินค้าชินโจว ศูนย์กลางการค้าเสรี “เส้นทางสายใหม่ภาคตะวันตกฯ”

วันที่ 29 พ.ค. 2551 สภารัฐกิจจีนประกาศอนุมัติการจัดตั้ง “เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว” (Qinzhou Bonded Port Area) เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนแห่งที่ 6 ของจีนอย่างเป็นทางการ นับเป็นการเปิดฉากใหม่ให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจในอ่าวเป่ยปู้ 11 ปีผ่านไป สภารัฐกิจจีนได้อนุมัติการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีขึ้นในกว่างซี โดยมีเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวทั้งหมด รวมอยู่ภายในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) โซนท่าเรือชินโจว

เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ดีเยี่ยม อยู่ติดชายฝั่งทะเลตอนใต้ของกว่างซี ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาณาเขตติดกับมาเก๊า ฮ่องกง กวางตุ้ง และอยู่ใกล้กับอาเซียน เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟและทางทะเลบน “เส้นทางเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” เป็นประตูสู่อาเซียน และชายฝั่งแนวหน้าที่จะออกไปสู่ทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

จนถึงปี 2561 เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวมีท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 11 ท่า โครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งระบบไฟฟ้าและท่อประปา คลังสินค้าโลจิสติกส์ขนาด 1.4 ล้านตร.ม. และอาคารโรงงานที่ได้มาตรฐาน 170,000 ตร.ม. ไปจนถึงเครือข่ายการคมนาคมที่สะดวกสบาย และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ครบครัน ได้เข้ามาสนับสนุนเขตท่าเรือฯ สู่การเป็นท่าเรือเชื่อมทางบกและทางทะเลภายใต้ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

นับตั้งแต่เปิดเขตท่าเรือฯ เมื่อปี 2554 เป็นต้นมา เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2561 มีปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 55.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29.86% ซึ่งช่วยให้ชินโจวบรรลุเป้าหมายท่าเรือขนาดหนึ่งร้อยล้านตัน โดยมีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 2,324,500 TEUs เพิ่มขึ้น 30.35% ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นตู้สินค้าต่างประเทศ 491,500 TEUs เพิ่มขึ้น 17.14% และตู้สินค้าในประเทศ 1,833,000 TEUs เพิ่มขึ้น 35.8% มูลค่าการนำเข้าและส่งออกท่าเรืออยู่ที่ 21,099 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 33.89% โดยมูลค่าการค้าสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 120,817 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 21% จากปีที่แล้ว ขึ้นครองสถิติเป็นอันดับสองของมูลค่าการค้าในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ 12 แห่งในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ และขึ้นเป็นอันดับที่หนึ่งในเรื่องของการเติบโต โดยในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สินค้าในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวอยู่ที่ 46.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 31.5% และมีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 1,765,000 TEUs เพิ่มขึ้น 22%

วันที่ 15 ส.ค. 2562 คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ “แผนแม่บทเส้นทางเชื่อมทางบกและทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” พร้อมบรรจุแผนแม่บทดังกล่าวลงในยุทธศาสตร์ชาติ โดยเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวพร้อมมีส่วนร่วมในการสร้างเส้นทางสายใหม่แห่งภาคตะวันตกฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันการสร้างเส้นทางการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศที่ราคาถูกที่สุด บริการดีที่สุด และเวลาสั้นที่สุดระหว่างจีน-อาเซียน

เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว ในฐานะจุดเชื่อมต่อสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟและทางทะเลบน “เส้นทางเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” มีพันธกิจที่สำคัญในการเชื่อมต่อการคมนาคมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศ จากภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ตอนกลาง และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนไปสู่นานาประเทศ

เพื่อให้การคมนาคมทางรถไฟและทางทะเลเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 ช่วยให้การเชื่อมโยงคมนาคมทางรถไฟและทางทะเล ภายในเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจวประสบผลสำเร็จ ตามแผนยุทธศาสตร์ “เส้นทางเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก”

พิธีเปิดเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) โซนท่าเรือชินโจว จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา โซนท่าเรือชินโจว มีเนื้อที่ทั้งหมด 58.19 ตร.กม. ครองสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี และเป็นเขตพื้นที่ซึ่งใหญ่สุดในเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี แบ่งออกเป็นพื้นที่เขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนชินโจว 10 ตร.กม. เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน (ชินโจว)-มาเลเซีย 16.05 ตร.กม. และเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีท่าเรือชินโจว 32.14 ตร.กม.

ในแผนการโดยรวมของเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี ทิศทางของการพัฒนาท่าเรือชินโจว คือ การสร้าง “หนึ่งท่าสองเขต” ความหมายของ “1 ท่า” คือการเร่งก่อสร้างท่าเรือเชื่อมโยงเส้นทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลสายใหม่นานาชาติ และ “2 เขต” คือ เขตรวบรวมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และเขตสาธิตความร่วมมือจีน-อาเซียน

การจัดตั้งโซนท่าเรือชินโจวจะนำมาซึ่งความสะดวกและข้อได้เปรียบมากมายให้กับธุรกิจ องค์กรและผู้ประกอบการต่างๆ โดยผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความสะดวกสบายทางการค้าระดับสากล ต้นทุนทางการเงินข้ามพรหมแดนที่ต่ำกว่า และบริการการลงทุนที่เปิดกว้างและโปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินงานทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุนต่างประเทศ


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *