เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเข้าร่วมประชุมสุดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย. 2562
โอกาสนี้ ทั้งสองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวร่วมกัน ณ ตึกสันติไมตรี โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสภาวะความผันแปรของสภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งสองฝ่ายเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (MPAC 2025) และ ACMECS เป็นต้น กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Connecting the Connectivities” ที่ไทยเสนอ
เรายังเห็นพ้องที่จะเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง –มาเก๊า – ฮ่องกง หรือ GBA ของจีนผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกหารือระดับสูงระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้
ทั้งนี้ ยังได้เชิญชวนให้จีนขยายการลงทุนในไทย และฝากให้นายกรัฐมนตรีจีนช่วยดูแลภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจีน และดูแลเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา นอกจากนี้ได้ย้ำความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะปรับปรุงมาตรฐานการให้ความคุ้มครองและดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งจีนได้แสดงความพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีของจีนในเรื่องการขจัดความยากจนให้ไทย พร้อมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควัน/PM 2.5
ส่วนในด้านการเมืองและความมั่นคง เห็นพ้องกันให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และจะสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ด้าน หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า พวกเราได้บรรลุการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้านการเมือง พร้อมผลักดันร่วมมือกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีอีซี รวมถึงส่งเสริมเสริมความร่วมมือด้านการค้าข้าว อีคอมเมิร์ซ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาของไทยเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่มาเยือนประเทศไทย ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้คิดว่าหากทางการไทย-จีน ร่วมมือกัน จะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง ซึ่งในอนาคตจะต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับไทยที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งได้มีการประชุมผู้นำ 15 ประเทศผ่านเวที RCEP และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
จะเห็นได้ว่าในภูมิภาคนี้เรามีประชากรมากที่สุด มีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุด และมีความพร้อมในการสร้างเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เราจะร่วมมือกันในการรักษาความมั่นคงเพื่อพัฒนาภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป
การแสวงหาความร่วมมือในเวที RCEP ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรและอดทน การเจรจาระหว่างกันก็เหมือนการเตะบอลเข้าประตู ซึ่งขณะนี้บอลกำลังจะเข้าประตูแล้ว เราต้องใช้ความพยายามต่อไป ต้องผลักดันให้ลูกบอลตกลงสู่พื้นเพื่อเข้าประตูไปในเร็ววัน
เรามีความมั่นใจว่าปีหน้า RCEP จะประกาศข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ และคิดว่าบอลที่เตะเข้าประตูไปแล้วจะเปิดกว้างไปสู่ทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงเรื่องอื่นๆด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากสุภาษิตให้กับนายหลี่ เค่อเฉียง ว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์และพญาคชสารได้” คือสุภาษิตไทยที่ขอฝากไว้ และอยากฟังสุภาษิตจีนบ้าง ซึ่ง นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่ต้นแล้วว่าจีนกับไทยได้ลงเรือลำเดียวกัน เราต้องพยายามไปข้างหน้าด้วยกัน ถ้าดูจากประชากรและสภาพทางการเมือง การต่างประเทศก็เป็นพี่น้องกัน เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อกัน ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ เราจึงต้องมุ่งไปข้างหน้าเพื่อให้มีอนาคตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เราต้องอาศัยหลักการความเสมอภาคต่อกัน เอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดี และมีความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน แม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีนได้ ซึ่งทั้งสองประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน
ทั้งนี้ หลังการเข้าพบหารือกันครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและจีนยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับร่วมกันระหว่างไทย-จีน ได้แก่ 1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการและนวัตกรรม 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวและข้อมูลข่าวสารระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับสำนักข่าวซินหวา และ 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กับศูนย์ความร่วมมือทางนวัตกรรมแห่งสถาบันบันฑิต
————————-