ไฮไลท์ความสำเร็จปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35

ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.2562 ภายใต้แนวคิดหลัก ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ พร้อมส่งไม้ต่อให้เวียดนามรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2563

ตลอด 3 วันของการประชุมครั้งนี้ ไทยสามารถผูกโยง 18 ชาติ ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและ 8 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอย่างจีน,ญี่ป่น,อินเดีย,ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมประชุมอย่างคึกคักในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเลขาธิการสหประชาชาติและกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งสำคัญ สะท้อนภาพความสำเร็จการรวมกลุ่มในภูมิภาค ขับเคลื่อนงานตามวาระที่ได้วางเป้าหมายไว้

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมระดับผู้นำทั้ง 9 การประชุม ซึ่งมีทั้งการประชุมระหว่างอาเซียนกันเองและกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย และสหประชาชาติ รวมทั้งมีการประชุมในกรอบ ASEAN+3 , การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAST Asia Summit – EAS) และการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP)

• 15 ประเทศบรรลุข้อตกลง RCEP เตรียมลงนามปี 2563

สำหรับความสำเร็จที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 คือ การที่ประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP จนสำเร็จลุล่วง และพร้อมที่จะนำไปสู่การลงนามในปีหน้า โดยเป็นการบรรลุข้อเจรจาระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นเพียงอินเดียที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP

ทั้งนี้ RCEP ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศในประชาคมอาเซียน ร่วมกับ 6 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ริเริ่มความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2555 และเริ่มต้นการเจรจาในปี 2556 ซึ่งเดิมเคยกำหนดไว้ว่าจะสามารถหาข้อสรุปในการเจรจาได้ตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้ จนกระทั่งภารกิจนี้ตกมาสู่มือของไทยในฐานะประธานการประชุมที่สามารถผลักดันจนให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP ได้ครบทั้งหมด 20 บท จากช่วงต้นปี 2562 ที่ได้ผลสรุปเพียง 7 บท

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “สมาชิก RCEP 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลง RCEP ในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิก RCEP จะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป”

ทั้งนี้ หากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา โดยRCEP 16 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

ขณะที่การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เมื่อปี 2558 พบว่า ผลของการเจรจา RCEP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยผลผลิตมวลรวมของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 3.995% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ โดยสินค้าที่สมาชิก RCEP เปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น

นอกจากการผลักดันการเจรจา RCEP ยังมีความสำเร็จด้านเศรษฐกิจอีก 3 ประเด็นหลักร่วมกันของอาเซียนที่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงไทยเป็นประธานอาเซียน ได้แก่ การรับมือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเข้าออกโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะด้านการประมง

• “อาเซียน-จีน” เดินหน้าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

อีกหนึ่งการประชุมสำคัญที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียน และ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคผ่านการสอดประสานแผนแม่บทเพื่อความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity : MPAC 2025 ) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็น “ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน”

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่งจากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค

เมื่อปี 2561 อาเซียนและจีนได้ฉลองการครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน และได้รับรอง ‘วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030’ ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ว่า จีนยึดมั่นในเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ และยุทธศาสตร์การเปิดกว้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และยินดีที่จะเชื่อมโยงข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งประชาคมอาเซียนโดยรวม และยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะที่เหล่าผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ขอบคุณจีนที่สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาค ตลอดจนแสดงความยินดีที่จะร่วมรังสรรค์แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน ขยายความเชื่อมโยงและการลงทุนระหว่างกัน ส่งเสริมการร่วมมือทางนวัตกรรม อีคอมเมิร์ซ เมืองอัจฉริยะ ฯลฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *