“Smart Port” มิติใหม่แห่งการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ

เครือข่ายความร่วมมือเมืองท่าเรือจีน-อาเซียน มีสมาชิกเข้าร่วมถึง 39 แห่ง 港口合作网络成员已经发展到39家

ภายใต้แผ่นฟ้าและท้องทะเลสีคราม ตู้คอนเทนเนอร์มากมายเรียงรายอยู่ที่ท่าเรือ แต่เมื่อแหงนมองขึ้นไปกลับไม่เห็นใครสักคน มีแต่หุ่นยนต์ AI กำลังบรรจุสินค้าใส่ตู้ลงกลอนคอนเทนเนอร์ กับรถขนตู้คอนเทนเนอร์ที่ชาร์จไฟเองได้อัตโนมัติ… นี่คือภาพของการพัฒนาท่าเรือสุดล้ำที่กำลังเกิดขึ้นจริง ด้วยการสนับสนุนของเทคโนโลยี Big Data ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 5G

ภาพท่าเรือยุคเก่าในอดีตกำลังจะหมดสมัย เมื่อการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ หรือสมาร์ทพอร์ท (Smart Port) กำลังกลายเป็นประเด็นที่วงการอุตสาหกรรมจีน-อาเซียนให้ความสนใจ หลี่ มู่หยวน เลขาธิการและรองประธานสมาคมอุตสาหกรรมคอนเทนเนอร์จีน กล่าวในงานการประชุมการทำงานเครือข่ายความร่วมมือเมืองท่าเรือจีน-อาเซียน ปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างงานมหกรรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ครั้งที่ 16 ว่า “อนาคตของท่าเรือจะไปต่อได้ ถ้าพัฒนาก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี”

ท่าเรืออัจฉริยะ การขนส่งทางเลือกใหม่แห่งยุค

“ตลอดช่วง 5-8 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นำมาซึ่งความสะดวกสบายด้านทำงานและการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน” หลี จื้อเหว่ย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคจีนตอนใต้ของกลุ่มบริษัท PSA International Pte Ltd (PSA) หนึ่งในผู้ให้บริการท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศสิงคโปร์ มองว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หากท่าเรือของจีนก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน จะฉุดรั้งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตลอดจนภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ และสมาร์ทเทคโนโลยีของทั้งประเทศ หรืออาจถึงขั้นต้องล้มหายไปในที่สุด

หลี่ มู่หยวน เลขาธิการและรองประธานสมาคมอุตสาหกรรมคอนเทนเนอร์จีน 中国集装箱行业协会专职副会长兼秘书长李牧原

หลี จื้อเหว่ย ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนภายในประเทศ ยังมีการสร้าง “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ที่มีส่วนเข้ามาเป็นตัวเร่งการพัฒนาด้านสมาร์ทเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับอุตสาหกรรมท่าเรือ เนื่องจากท่าเรือต่างๆ ล้วนมองเห็นถึงพลังของเทคโนโลยี ที่เข้ามาพลิกโฉมกระบวนการทำงาน ระบบการจัดการ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจของท่าเรืออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีเพียงการปรับตัวให้ทันกับทิศทางการพัฒนาในปัจจุบันเท่านั้น จึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้บนเส้นทาง ILSTC สายใหม่ที่เกิดขึ้น

องค์ประกอบที่จำเป็นของการสร้างท่าเรืออัจฉริยะ

เมื่อเปรียบเทียบกับท่าเรือแบบเก่า ท่าเรือ Smart Port มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างท่าเรือ Smart Port ไม่ว่าจะในจีนหรืออาเซียน ล้วนแล้วแต่ต้องการแพลตฟอร์ม และฐานข้อมูลเข้ามาช่วยสนับสนุน

หลี่ เหิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท China-ASEAN Information Harbor Co., Ltd. เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่าเรือ Smart Port หรือสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการสารสนเทศในเส้นทาง ILSTC ล้วนจำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1. Big Data เนื่องจาก Big Data เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสมาร์ทเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ในการขนส่งทางทะเลยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในเส้นทาง ILSTC ข้อมูลกลับแยกย่อยกระจัดกระจาย ไม่ได้ถูกรวมไว้ในที่เดียว

2. มีแพลตฟอร์มรองรับ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Peer-to-Peer (P2P) จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นตัวกลางเข้ามาบริหารจัดการแพลตฟอร์มทั้งหมด บนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

3. Ecosystem หรือ ระบบนิเวศทางธุรกิจ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางทะเลเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยทางทะเล หรือสถาบันทางการเงิน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบครบวงจร

“เมื่อนำ 3 องค์ประกอบมารวมศูนย์ไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับหน่วยงานกลางด้านการค้าและการขนส่งทางทะเล” หลี่ เหิง กล่าวพร้อมทั้งอธิบายว่า “บทบาทดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก 1. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีข้อพิพาทด้านผลประโยชน์ 2. มุ่งเน้นบูรณาการด้านการขนส่งทางทะเล และบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ที่บริษัทขนส่งไม่สามารถทำได้ 3. ทำหน้าที่ในการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสมาร์ทเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามายกเครื่องอุตสาหกรรมทั้งระบบ”

หลี่ เหิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท China-ASEAN Information Harbor Co., Ltd. 中国—东盟信息港股份有限公司联席总裁李珩

Mateusz Dawidowski ผู้แทนจากสำนักงานกรมการท่าเรือกดานสค์ (Gdańsk) ประเทศโปแลนด์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน 波兰格但斯克港务局上海办事处中国区首席代表史孟平

เครือข่ายเมืองท่าเรือจีน-อาเซียน จับมือร่วมผลักดันท่าเรือ Smart Port

เมื่อหกปีก่อน ในงาน CAEXPO ครั้งที่ 10 ภายใต้ความคิดริเริ่มของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง และนายกเทศมนตรีเมืองท่าเรือต่างๆ และตัวแทนที่เกี่ยวข้องจากจีนและอาเซียน ได้ร่วมกันประกาศเครือข่ายความร่วมมือเมืองท่าเรือจีน-อาเซียนอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความร่วมมือระหว่างเมืองท่าเรือจีน-อาเซียน ซึ่งในปัจจุบันเครือข่ายความร่วมมือของเมืองท่าเรือจีน-อาเซียน มีสมาชิกเข้าร่วม 39 แห่ง ครอบคลุมองค์กรท่าเรือสำคัญต่างๆ ทั้งในจีนและอาเซียน

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ได้เอื้อต่อการพัฒนาท่าเรือ Smart Port โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างท่าเรือในกลุ่มประเทศอาเซียนและอ่าวเป่ยปู้กว่างซี


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *