ในที่สุดโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ได้จัดพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ และออกแบบรถไฟความเร็วสูงของจีน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลด้านการออกแบบและการก่อสร้างโครงการ
ความสำเร็จของความร่วมมือลงทุนในประเทศที่ 3
ภายหลังจากการลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านไปได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ได้กล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ระหว่างการเข้าร่วมประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยว่า จีนยินดีเชื่อมยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยด้วยแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยยึดหลักการ “ร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน” นอกจาก นี้จีนยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของความร่วมมือลงทุนในประเทศที่ 3
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของไทย ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นของความร่วมมือการลงทุนในประเทศที่ 3 ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในไทย และเป็นโครงการบูรณาการ การก่อสร้างและการลงทุนโครงการแรกของ EEC ซึ่งเป็นสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนของภาคเอกชน ซึ่งมี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือ ‘ซีพี’ (CP) เป็นหัวเรือใหญ่ ร่วมกับพันธมิตร บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ (ITD) และบริษัท ช.การช่างฯ
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จบนความร่วมมือระหว่างไทย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอิตาลี และผมคาดหวังผลสัมฤทธิ์ของโครงการในครั้งนี้ไว้เป็นอย่างมาก” โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเชื่อม 3 สนามในไทย แต่ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมไปถึงเส้นทางรถไฟในแถบประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอนว่ารัฐบาลไทยจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการก่อสร้างโครงการ


ผลสำเร็จใหม่ของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ตามแผนที่ตั้งไว้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเป็นโครงการที่เป็นรากฐานสำคัญให้กับ EEC โดยโดยหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟบริเวณหัวเมืองต่างๆ โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยได้อีกประมาณ 100,000 ตำแหน่ง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท (ประมาณ 151,900 ล้านหยวน) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตเพิ่มขึ้น
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีรากฐานการพัฒนาเข้มแข็ง มีนโยบายพิเศษที่เอื้อต่อการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมเกิดใหม่จากต่างประเทศ พร้อมกับจะสร้างให้เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งแรกที่จะนำทรัพยากรบุคคล สินค้า และการเงินมารวมไว้ด้วยกัน และเพื่อให้เป็นการส่งเสริมการพัฒนาให้กับเขตการค้าเสรีและเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจีนและไทยจึงได้บรรลุฉันทามติร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเบื้องหลังของความสำเร็จในการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจีนที่อยู่ในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในแถบอาเซียน ในขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยให้บริษัทจากจีนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงการ EEC และมีส่วนในการส่งเสริมความสำเร็จของ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ด้าน หลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจําประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหนึ่งในแผนงานที่เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา EEC ทั้งยังเป็นโครงการสำคัญที่จะเชื่อมยุทธศาสตร์ของ EEC เข้ากับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน โดยผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่างไทย-จีน ที่นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ (CP) และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาที่ยึดตามหลักการ “ร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันความร่วมมือในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงและการเชื่อมโยงในภูมิภาค”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวทางการผลักดัน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่งผลให้บริษัทจีนจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และผลจากการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรถไฟครั้งนี้ ได้นำมาสู่โอกาสการลงทุนที่มากขึ้น โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเชื่อว่า บริษัทจีนจะสามารถใช้ความได้เปรียบจากด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการผลิตระดับสูงของตน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา EEC รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้ดียิ่งขึ้น