วันนี้ (27 ธ.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญากับบริษัทด้านระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (CRSC ) ขับเคลื่อนโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร โดยโครงการดังกล่าวเปิดโอกาสอย่างอิสระและเป็นไปตามข้อกำหนดในการแข่งขันในการให้บริษัทชั้นนำจากทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมประมูลเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความสำคัญ
สวี จงเสียง ประธานบริษัท CRSC กล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนกิจการต่างๆ ของ CRSC ซึ่งพิธีลงนามในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยนั้นได้ฉายาว่าเป็นรอยยิ้มแห่งสยาม ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนทั้งด้านการลงทุน เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมตอกย้ำความสัมพันธ์ว่าไทย-จีนใช่อื่นไกลพี่น้องกัน และขอขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ให้ความไว้วางใจและขอบคุณทุกภาคส่วนที่การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทูตจีนที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
- สวี จงเสียง ประธานบริษัท CRSC
ทั้งนี้ บริษัท CRSC ถือเป็นวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศจีนและเป็นกำลังหลักในการสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีน โดยทางบริษัทยึดมั่นในการปฏิบัติร่วมกันผ่านโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้มีความรอบด้าน
พร้อมกันนี้ ทาง CRSC ยินดีในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 และ EEC ร่วมกันกับไทยเพื่อเดินหน้าขยายความร่วมมือทางด้านการคมนาคมตามหลักการสร้างสรรค์และแบ่งปันร่วมกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและไทย
- วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ด้าน วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาของทางการรถไฟซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สามารถเปิดเดินรถไฟทางคู่ได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์กับประเทศและยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจรวมทั้งยกระดับชีวิตของพี่น้องประชาชนและยังทำให้การขับเคลื่อนแผนงานของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล
ทั้งนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) และทุกหน่วยงานรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ช่วยดําเนินการจนแล้วเสร็จ และขอแสดงความยินดีและหวังว่าโครงการนี้จะสำเร็จราบรื่นตามแผนที่วางไว้
ขณะที่หลิว เลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปศูนย์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก CRSC กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมลงนามในโครงการดังกล่าวพร้อมขอขอบคุณการรถไฟแห่งประเทศไทยในการร่วมมือเดินหน้าโครงการ พร้อมกันนี้ ยังให้ความมั่นใจว่าทางCRSC จะ ดำเนินการต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพและนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ด้านการคมนาคมระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมขอบคุณสถานทูตจีนประจำประเทศไทยในการดำเนินการต่างๆ
สำหรับโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาการรถไฟไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าซึ่งที่ผ่านมามีการทดสอบระบบเพื่อประเมินในด้านต่างๆเพื่อให้การเดินหน้าโครงการ เป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวก็จะสิ่งหนึ่งที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศไปอีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นการออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทางก่อสร้างใหม่และทางรถไฟเดิมโดยใช้ระบบอาณัติสัญญาณบังคับด้วยคอมพิวเตอร์จำนวน 59 สถานีพร้อมระบบป้องกันเหตุอันตรายของขบวนรถอัตโนมัติซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลรวมมูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 6,210 ล้านบาท มีระยะทางไปโครงการก่อสร้างประมาณ 420 กิโลเมตรใช้เวลาในการก่อสร้าง 36 เดือน ซึ่งสามารถดำเนินโครงการได้หลังลงนามในสัญญาโดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณช่วงเดือนธันวาคม 2565
ทั้งนี้ พิธีลงนามเซ็นสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ในครั้งนี้ มี วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และหลิวเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปศูนย์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (China Railway Signalling&Communication (CRSC ) เป็นผู้ลงนามในสัญญา โดยได้รับเกียรติจาก สวี จงเสียง ประธานบริษัท CRSC , จาง เซียว หง เลขานุการเอกฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าร.ฟ.ท. ร่วมเป็นสักขีพยาน
—————————————