หลังจากเปิดศึกการค้ากันมาเป็นเวลา 18 เดือน ในที่สุดสหรัฐอเมริกาและจีนก็ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าฉบับแรก ที่เรียกว่า “ข้อตกลงการค้าเฟส 1” ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 ซึ่งช่วยคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก


สาระสำคัญของข้อตกลงฯ ในด้านการขยายการค้าและการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 2 ปี (วันที่ 1 ม.ค. 2563 –31 ธ.ค. 2564) ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่า 7.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ เหล็ก, สินค้าเกษตร มูลค่า 3.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น เมล็ดพืชน้ำมัน เนื้อวัว หมู ไก่ อาหารทะเล อาหารสัตว์, สินค้าพลังงาน มูลค่า 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ตลอดจนด้านบริการ มูลค่า 3.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น การท่องเที่ยว การประกันภัย และหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ข้อตกลงฯ ยังระบุถึงความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคการค้าและสนับสนุนการขยายตัวของสินค้าสหรัฐฯ เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาหารทารก สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง ข้าว อาหารสัตว์ พืชสวน และผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ อีกด้วย
สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ ของข้อตกลงฯ ได้แก่ จีนจะเพิ่มระดับการคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งจะเปิดตลาดบริการทางการเงินให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้ สองฝ่ายตกลงที่จะละเว้นการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเข้าครอบครองเทคโนโลยีของต่างชาติ และจะละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า การลงนามครั้งนี้ จะช่วยลดแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้ดีขึ้น และส่งผลดีเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ เมื่อเสริมกับพื้นฐานสินค้าและตลาดส่งออกของไทยที่ดีและมีความหลากหลาย จะเป็นแรงเสริมให้กับการค้าและการส่งออกของไทยโดยภาพรวม
ทั้งนี้ ข้อตกลงระยะแรกไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนต่อไป อาทิ อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง
ด้านมุมมองจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังไม่น่าจะจบในระยะอันใกล้ เนื่องจากถึงแม้จะมีการลงนามความตกลงทางการค้าเฟส 1 แต่ในความเป็นจริง ทั้งสหรัฐฯ และจีนยังต้องแบกรับผลกระทบต่าง ๆ ไว้อย่างมาก โดยเฉพาะการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นการลดภาษีแค่บางส่วนเท่านั้น โดยสินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีอัตราภาษีที่ 7.5% ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่อีก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีภาษีอยู่ที่ 25% ทำให้ปี 2563 ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญอัตราภาษีที่สูง


สำหรับผลต่อไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปีนี้การส่งออกของไทยจะยังคงเผชิญความไม่แน่นอนต่อเนื่อง แต่ในเบื้องต้นการปรับลดภาษีของสหรัฐฯ จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางตรงจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนลงได้
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมคือการที่จีนต้องให้น้ำหนักกับการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดในจีนบางส่วน ขณะเดียวกันการนำเข้าถั่วเหลืองของไทยจากสหรัฐฯ อาจเผชิญผลด้านราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรืออาจต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นสำรอง