วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020 ภายใต้การขับเคลื่อนรัฐบาล‘พล.อ.ประยุทธ์’

ก้าวสู่ศักราชใหม่ปี 2563 ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน? เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร? ในโลกยุคปัจจุบัน และอะไรคือทางออกสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย? มาฟังมุมมองและทิศทางจากผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านเวทีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020” เวทีใหญ่แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายเศรษฐกิจส่งท้ายปีเก่าที่ผ่านมา ในงาน Nation Dinner Talk : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020

พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นปาฐกถาโดยย้ำถึงความสำคัญของการเดินหน้าอนาคตประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) เพื่อสร้างให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เดินไปข้างหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มุ่งสู่การเป็น“ประเทศไทย4.0”

ทั้งนี้ ในด้านมิติเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความท้าทายหลายประการ ทั้งจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ การขยายอิทธิพลและการเพิ่มบทบาทของประเทศมหาอำนาจซึ่งอาจเกิดการย้ายขั้วอำนาจและการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ไทยต้องปรับท่าทีเพื่อรักษาสมดุลให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยจะก้าวตามอย่างไรให้ทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การก้าวสู่ยุค 5G เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการ

ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ 1. ปัญหาคุณภาพและสมรรถนะของแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 2. การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาจทำให้รายจ่ายของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งรัดนโยบายการจ้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้สูงวัย 3. ความยั่งยืนของทรัพยากรในประเทศที่ต้องแก้ไขโดยด่วน โดยประเด็นท้าทายสำคัญเหล่านี้ได้ถูกนำมาพิจารณาในการจัดทำกรอบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บนฐานแนวคิด“ต่อยอดจากอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปปฏิบัติให้บรรลุผลได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ แผนแม่บทด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านการท่องเที่ยว ด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายในระยะแรกภายในปี 2565 ให้เป็นรูปธรรม

“ ในปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% โดยมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนในช่วง 5 ปีแรก (ปี 2561-2565) 6 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้เดินหน้าไปได้ 3-4 แสนล้านบาทแล้ว

ในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจะเดินหน้าขยายระบบรถไฟทางคู่เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 4,000 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าโดยใช้ระบบราง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายเดินหน้าส่งเสริมให้การเกิดลงทุนในประเทศ รวมถึงส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ในด้านภาคการเกษตร รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรของไทยต้องขยายตัวอย่างน้อยเฉลี่ย 3.8% ต่อปี จากที่เคยอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องขยายตัวเพิ่มให้ได้ 4.6% และ 5.4% ตามลำดับ นี่คือโจทย์ที่เราวางไว้ในปี 2565 ว่าภายในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเดินตามเป้าหมายนี้ให้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลอยากจะเห็นคือการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มาจากการท่องเที่ยว และการไหลเข้ามาของเงินดอลลาร์ หากมีการนำเงินออกไปลงทุนมากขึ้นก็จะแก้ปัญหานี้ได้ อีกเรื่องที่ยังเป็นปัญหา คือ งบประมาณปี 2563 ซึ่งจะผ่านและบังคับใช้ได้ในเดือนก.พ.2563 จึงต้องวางแผนการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนโครงการของภาครัฐซึ่งยังมีความล่าช้า

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% ส่วนไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 2.4% จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เป้าหมายปี 2563 คาดหวังไตรมาสแรกปี 2563 น่าจะดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของคนในชาติ จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะทุกปัญหาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *