ส่องอนาคตธุรกิจไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ‘ปีชวด’

ก้าวสู่ศักราชใหม่ปี 2563 ยังคงเป็นอีกปีที่ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทาย ทั้งปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศ TAP Magazine สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจปีชวดกับปัจจัยความท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน จากงานเสวนา “แนวโน้มธุรกิจ ท่ามกลางโจทย์หินปี 2563” ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

คาด GDP ปี 2563 โต 2.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ในปี 2563 อยู่ที่ระดับ 2.7%ภายใต้กรอบประมาณการที่ 2.5-3% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมาจากการลงทุนของภาครัฐ ได้แก่ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและได้สัมปทาน อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมือง 4 โครงการ มูลค่า 271,590 ล้านบาท , โครงการรถไฟทางคู่ 4 โครงการ มูลค่า 109,278 ล้านบาท ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนจากรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณประจำปี 2563 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้มีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรก และมีการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตามมา แต่หากการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมีความล่าช้าไปกว่านั้น จะส่งผลกระทบให้จีดีพีปี 2563 ขยายตัวต่ำอยู่ที่กรอบล่าง 2.5% หรือต่ำกว่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการผ่อนคลายนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงอีก

ส่งออกติดลบ เงินบาทยังแข็งค่า

ด้านทิศทางการเติบโตภาคการส่งออกในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและยุโรปยังมีทิศทางชะลอตัว ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังต้องจับตา

ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีปัจจัยหนุนให้แข็งค่าต่อเนื่อง แต่อาจจะเห็นการเคลื่อนไหวแกว่งตัวขึ้นลงในปี 2563 โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้กรอบประมาณการที่ 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแข็งค่าขึ้นราว 3.8% จากปี 2562 ที่แข็งค่าขึ้นถึง 7.7%

ปัจจัยค่าเงินบาทที่กระทบต่อภาคส่งออกยังส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงานที่ลดลง โดยในเบื้องต้นประมาณการว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบอีกกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไปใกล้แสนตำแหน่ง โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะกระทบต่อภาคสินค้าเกษตร การท่องเที่ยว และโดยเฉพาะภาคการผลิตรถยนต์ที่มีโอกาสลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ธุรกิจเกษตรเจอศึกหนัก : ค่าเงิน ค่าแรง ภัยแล้ง

สำหรับปัจจัยอื่นๆที่ท้าทายในปี 2563 ยังมีภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าปี 2562 ทำให้จีดีพีภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิม จะมีผลทำให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 0.3% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ธุรกิจเกษตรจะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆกัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้ ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ฟื้นตัวเพราะปัญหาที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่ยังมีอยู่อีกราว 200,000 หน่วย

ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2563 ส่วนใหญ่มีภาพที่ชะลอตัวลง ทั้งยอดขายรถยนต์ การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ยังไปได้คือธุรกิจท่องเที่ยว แม้จะเติบโตชะลอตัวลงอยู่ที่ 2-3% แต่ยังคงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจากจีน อาเซียน และอินเดียที่มีศักยภาพ รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพีรวมถึง 18%


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *