ส่องทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีนปี 2020 ผ่านการประชุมแผนงานเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) เวทีประชุมด้านเศรษฐกิจระดับสูงสุดซึ่งมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 10-12 ธ.ค. 2019 ณ กรุงปักกิ่ง โดยทิศทางในปี 2020 จีนยังคงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการใช้นโยบายทางการคลังเชิงรุกและนโยบายทางการเงินที่มีความรัดกุม เพื่อพัฒนาให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ในปี 2020 ถือเป็นปีสำคัญของจีน เพราะเป็นปีสิ้นสุดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี (2016-2020) ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าหมายสร้างสังคม“กินดีอยู่ดี”ถ้วนหน้า (Moderately prosperous society) สำหรับแถลงการณ์การประชุมแผนงานเศรษฐกิจส่วนกลางครั้งนี้ ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ตั้งแต่การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพ การบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ การมุ่งรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระดับมหภาค รวมไปถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีนภายใต้แผนงาน 3 ปี และการรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตต่อไปในระดับที่เหมาะสม
“เราต้องตระหนักว่า จีนกำลังอยู่ในห้วงยามสำคัญของการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเติบโต การยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสร้างแรงขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ”สำนักข่าวซินหัวระบุถึงแถลงการณ์
“จีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยที่พัวพันทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงสถาบันและปัญหาเชิงวัฏจักร”


แถลงการณ์ยังชี้ด้วยว่า เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และอยู่ในช่วงของการปรับตัวจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลก โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จีนจึงต้องเตรียมวางแผนรับมือให้ดี
ทั้งนี้ จีนจะเดินหน้าสร้างความมั่นคงเป็นพันธกิจสำคัญสูงสุด และยึดมั่นการปฏิบัติงานตามนโยบายมหภาคอันชัดเจน นโยบายจุลภาคอันยืดหยุ่น และนโยบายทางสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐาน
1.เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การประสานความร่วมมือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และร่วมแบ่งปัน
2.เดินหน้าพิชิตสงคราม 3 ด้าน ได้แก่ ความยากจน, ความเสี่ยงด้านการเงิน และมลภาวะ
3.ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เสถียรภาพของตลาดแรงงาน และคุณภาพการจ้างงาน
4.ใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รัดกุม


5.ยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจภาพรวมของจีนด้วยนวัตกรรม นโยบายปฏิรูปและการเปิดกว้าง สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจมหานครปักกิ่ง-เทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย การบูรณาการเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง–ฮ่องกง–มาเก๊า (Greater Bay Area)
6.เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึก ทั้งการเร่งดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและสินทรัพย์ของรัฐ การอำนวยความสะดวก เปิดกว้างให้กับการลงทุนจากต่างชาติ ลดกำแพงภาษี รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ