ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ Economic Intelligence Center (EIC) จัดทำบทวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2020 โดย ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส EIC มองว่า ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2019 สะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบของสงครามการค้า โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ซึ่งผลกระทบจากความไม่แน่นอนส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ ผลกระทบของสงครามการค้าจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยกดดันกำไรของภาคอุตสาหกรรมให้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนจากการเจรจาข้อตกลงทางการค้าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2020
อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนพ.ย. 2019 อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังคำสั่งซื้อและอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ แม้ภาคการส่งออกยังคงถูกกดดันต่อเนื่อง แต่ EIC มองว่าการเติบโตของอุปสงค์ภายใน รวมถึงนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างภาคบริการและการบริโภคภาคครัวเรือนที่เข้มแข็งเพื่อชดเชยการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ระดับ 5.8% ในปี 2020


- มุมมองด้านนโยบายการเงิน
การผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการลดดอกเบี้ยของจีนเพิ่มเติมในปี 2020 อาจทำได้จำกัด ด้วยตัวเลขหนี้รวมต่อ GDP ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินทั้งในรูปแบบการลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) หรือการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ปัจจุบันที่ระดับ 4.15% ลงอีกหากเศรษฐกิจชะลอมากกว่าคาดการณ์
อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางจีน มีแนวโน้มขึ้นอยู่กับการประเมินผลกระทบของกำแพงภาษีสหรัฐฯ ในระยะต่อไป รวมถึงภาวะหนี้ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการกำหนดค่ากลางของค่าเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อาจเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ช่วยผ่อนคลายภาวะทางการเงิน โดยธนาคารกลางจีนอาจใช้การกำหนดค่าเงินหยวนให้อ่อนลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
- มุมมองด้านนโยบายการคลัง
EIC มองว่า ทิศทางและขนาดของมาตรการทางการคลังของจีนยังอยู่ในรูปแบบที่เน้นการประคับประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ ซึ่งจะไม่ได้เน้นที่เป้าหมายการเติบโตเชิงปริมาณอย่างเดียว แต่จะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเน้นเสถียรภาพตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน
- มุมมองความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนปี 2020
สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนที่ต้องจับตาในปี 2020 มี 3 ประเด็นสำคัญ โดยแบ่งจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว ได้แก่
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีน ณ เดือนพ.ย. 2019 พุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 4.5% (เกินเป้าหมายเงินเฟ้อของทางการที่ 3%) ยังมีแนวโน้มบั่นทอนการบริโภคภาคเอกชนในระยะสั้น ซึ่งสะท้อนจากยอดค้าปลีกที่เติบโตชะลอลงต่อเนื่อง EIC มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 และจะเริ่มส่งผลน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2020
ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนหุ้นกู้ภาคเอกชนในจีนที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (onshore defaulted bond principal amount) ยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าราว 1.2 แสนล้านหยวน (ราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ เดือนพ.ย. 2019ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าในปี 2018 ที่ 1.22 แสนล้านหยวน
อย่างไรก็ดี มูลค่าการผิดนัดชำระหนี้ปัจจุบันยังเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดพันธบัตรภาคเอกชนจีนที่มีมูลค่าราว 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจภาคเอกชนที่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สูงในระยะข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มเหมืองแร่และเหล็ก
ซึ่งได้ลุกลามสู่สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงิน ยังเป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องและมีแนวโน้มยืดเยื้อในระยะยาว