ที่ใดมี‘โอกาส’..ที่นั่นมี‘คนเวินโจว’

เวินโจวเป็นเมืองท่าริมฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตั้งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง ชาวเวินโจวมีจิตวิญญาณนักบุกเบิก กล้าออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงความเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจที่ก้าวไปทำธุรกิจในที่ต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีชาวเวินโจวหลั่งไหลเข้ามาทำมาค้าขาย และมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง จัดตั้งเป็น“สมาคมการค้าไทย-เวินโจว”อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2559

งานฉลองการดำเนินงานปีที่ 4 ของสมาคมการค้าไทย-เวินโจวจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ พร้อมพิธีรับมอบตำแหน่งคณะกรรมการสมาคมการค้าไทย-เวินโจว สมัยที่ 2 ภายใต้การนำของ ‘เจิ้ง ปิ่งเค่อ’ นายกสมาคมฯคนใหม่

เจิ้ง ปิ่งเค่อ เป็นหนึ่งในนักธุรกิจเวินโจวรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2545 ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยมานานนับ 17 ปีจนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง

เจิ้ง เล่าว่า เวินโจวเป็นเมืองตั้งอยู่ติดทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ทำการเกษตรได้น้อย คนเวินโจวจึงต้องดิ้นรนออกไปทำมาหากินในต่างถิ่น แสวงหาโอกาสใหม่ๆแล้วนำกลับมาพัฒนาต่อยอดสร้างฐานธุรกิจในบ้านเกิด เริ่มจากการชวนญาติพี่น้อง ชวนเพื่อน ช่วยกันทำช่วยกันขาย จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจแบบเวินโจวที่ทั้งหมู่บ้านผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

จุดเด่นของคนเวินโจว คือ ความขยัน บากบั่น สร้างตัวด้วยลำแข้งตนเอง ไม่เกี่ยงงาน ไม่ยึดติดกับรูปแบบ ทำอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้กำไร ไม่คิดพึ่งพาโชคชะตา แต่พร้อมจะเดินหน้าลุยไปทุกที่ที่มีโอกาส

นับตั้งแต่จีนประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 เมืองเวินโจวได้เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนอย่างเต็มที่ และเป็นเมืองแรกๆของจีนที่มีเอกชนได้รับใบประกอบอนุญาตทำธุรกิจจากรัฐบาลจีน นอกจากนี้ เวินโจวยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีนักธุรกิจออกไปลงทุนทำการค้าในต่างประเทศมากที่สุดเมืองหนึ่งของจีนอีกด้วย

คนเวินโจวเป็นคนรักพวกพ้อง มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ไปที่ไหนก็จะคอยติดต่อเชื่อมถึงกัน คอยสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปัจจุบันมีชาวเวินโจวที่ออกไปทำธุรกิจทั่วโลกประมาณ 8 แสนคน โดยในประเทศไทยคาดว่ามีจำนวนมากกว่า 3 พันคนขึ้นไป กระจายตัวอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และจังหวัดต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ อุดรธานี ชุมพร ฯลฯ

“ เฉพาะธุรกิจผ้าห่มอย่างเดียวก็น่าจะมีไม่ต่ำกว่าพันคนแล้ว มีทั้งที่ตั้งโรงงานในไทยและนำเข้าจากจีน นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ แว่นตา กระดุม ไฟแช็ค ซึ่งเวินโจวเป็นแหล่งผลิตใหญ่ส่งออกไปทั่วโลก”

เจิ้งเล่าว่า ช่วงปี 2533 ถือเป็นยุคแรกๆที่คนเวินโจวเข้ามาทำธุรกิจในไทย และเริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นในช่วงปี 2543 โดยมีงานกวางเจาเทรดแฟร์เป็นสื่อกลางทำให้ผู้ประกอบการเวินโจวหลายคนได้รู้จักกับคนไทย และมองเห็นลู่ทางการเข้ามาทำธุรกิจ จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน ปัจจุบันเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตมาตั้งในไทยมากขึ้น เพื่อหนีสงครามการค้า นอกจากนี้ ยังมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำธุรกิจและตั้งโรงงานในเวียดนามและเมียนมาซึ่งค่าจ้างแรงงานถูกกว่าเมืองไทย

“ตอนนี้ เศรษฐกิจในจีนเติบโตชะลอตัว คนเวินโจวยิ่งดิ้นรนออกมาแสวงหาโอกาสข้างนอก”

ในมุมมองของเจิ้งซึ่งอยู่เมืองไทยมา 17 ปี คนไทยและคนจีนมีความผูกพันกันลึกซึ้ง และมีความใกล้ชิดทางสายเลือด ดังคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ประเทศไทยยังตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญกับประเทศในอาเซียน เป็นตลาดศักยภาพสูงที่พรั่งพร้อมไปด้วยโอกาสทางการลงทุน โดยสมาคมการค้าไทย-เวินโจว พร้อมทำหน้าที่เป็นสื่อกลางส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างเวินโจวกับประเทศไทย

ในฐานะศูนย์รวมของชาวเวินโจวในไทย สมาคมฯมีนโยบายมุ่งเชื่อมความสัมพันธ์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการติดต่อการค้าระหว่างกัน ดึงดูดให้คนเวินโจวเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น พร้อมร่วมแบ่งปันโอกาสช่วยเหลือกันและกัน ดังปณิธานที่ว่า “สมานสามัคคี อบอุ่น กลมเกลียว ลงมือทำจริง”…จับมือร่วมสร้างความรุ่งโรจน์ไปด้วยกัน


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *