งานมหกรรม CAEXPO สะพานเชื่อมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน

อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับฐานการตลาดที่กว้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง

หลี่ ไคฟู่ ประธานและ CEO ของ Sinovation Ventures กล่าวในการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ว่า “เมื่อใดที่สามารถบูรณาการปัญญาประดิษฐ์(AI) เข้ากับข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) และแอปพลิเคชันมือถือ(APP)ได้สำเร็จ สามสิ่งนี้จะเข้ามาเป็นแรงหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศใน ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ได้ในอนาคต”

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดให้ปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน พร้อมขยายความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีนวัตกรรม เครือข่าย 5G และเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมในด้านนี้ ด้วยการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางประสานความร่วมมือและการเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียน

อาเซียนเร่งผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

การปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร, Big Data และอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Terminal) เป็นเหมือนบานประตูที่เปิดกว้างให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นสองตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีศักยภาพเติบโตสูงสุด

รายงานระบุว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซีย ขยายตัวจาก 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate) อยู่ที่ 49% ในปี 2562 เวียดนามมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 61 ล้านคน ระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 12 นาที เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ผู้ใช้งานดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีจำนวนทะลุ 300 ล้านคน ในปี 2568 เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2561 โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านดิจิทัลเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 390 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมสองเท่า

Infocomm Media Development Authority (IMDA) หน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ประกาศว่า สิงคโปร์กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5G ในไม่ช้า โดยในปี 2563 สิงคโปร์มีแผนจะเปิดตัวผู้ให้บริการ 5G ทั้งสิ้น 4 เครือข่าย แบ่งเป็นผู้ให้บริการ 5G เต็มรูปแบบ 2 เครือข่าย และจำกัดพื้นที่ให้บริการ 2 เครือข่าย ด้านเวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP ภายในปี 2568 และผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 7% ต่อปี

แม้อาเซียนจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แต่ก็ยังขาดการวางรากฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคง ทั้งปัญหาด้านโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ล้าหลัง รูปแบบการชำระเงินออนไลน์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย การขาดแคลนเงินทุน และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถภายในประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียน ในทางกลับกัน ข้อบกพร่องเหล่านี้กลับสร้างโอกาสทางการพัฒนาให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนเป็นอย่างมาก การแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่จำเป็น

CAEXPO ประตูสู่ความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล

จีนเริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ส่งเสริมด้าน Big Data อย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2561 ทั้งการเร่งพัฒนาประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัล การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งผลักดันให้เกิดการบูรณาการเชิงลึกระหว่างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, Big Data, AI และเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy)

เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาให้กับเศรษฐกิจจีน และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนช่วยหนุนการเติบโตของ GDP จีนมากถึง 67.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.9%

CAEXPO ในฐานะงานมหกรรมแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือจีน-อาเซียน ได้มีส่วนร่วมในการสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อย่างแข็งขัน รวมทั้งมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านการจัดแสดงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและความสำเร็จของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน รวมไปถึงการจัดงานฟอรั่มและการประชุมต่างๆ อาทิ ฟอรั่มศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor Forum), การประชุมสุดยอดอีคอมเมิร์ซจีน-อาเซียน (China-ASEAN E-Commerce Summit) และ ฟอรั่มการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce Development Forum)

ปี 2558 มีการประกาศจัดตั้ง “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Information Harbor: CAIH) ในพิธีเปิดงาน CAEXPO ครั้งที่ 12 เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางการเงินระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการยกระดับอุตสาหกรรม

ปี 2561 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดย CAEXPO ได้จัดงานฟอรั่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นเป็นครั้งแรก ได้แก่ “ฟอรั่มศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียนและเศรษฐกิจดิจิทัล” (China-ASEAN Information Harbor-Digital Economy Forum)

ปี 2562 งาน CAEXPO ครั้งที่ 16 ได้ร่วมเปิดฉากใหม่ให้กับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน โดยผู้นำจีนได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดว่า ในโอกาสที่ปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน จีนยินดีที่จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านอีคอมเมิร์ซ, การค้าดิจิทัล และเครือข่ายระบบ 5G

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันและเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อย่าง อินเทอร์เน็ต, Big Data และ AI ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของงาน CAEXPO ครั้งที่ 16 โดยในงานมีการจัดแสดงเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย ทั้งเทคโนโลยี 5G, การสื่อสารที่เข้ารหัส, ระบบแยกแยะภาษา, เทคโนโลยีช่วยขับขี่อัจฉริยะ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศต่างให้ความสนใจ

จุดแข็งของ CAEXPO ช่วยเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 “พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน” (ACFTA Upgrading Protocol) ได้มีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบ หวัง อวี้จู่ รองคณบดีสถาบันวิจัยจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยกว่างซี กล่าวว่า การบังคับใช้พิธีสารยกระดับ FTA อาเซียน-จีน ได้ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าหลายด้าน ทั้งในแง่ของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร รวมไปถึงข้อกำหนดด้านการค้าการบริการและการลงทุน ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

นี่ย่อมหมายถึงการเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกมิติ อันจะนำมาสู่การกระตุ้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้านต่างๆ ทั้งอีคอมเมิร์ซ เมืองอัจฉริยะ และ 5G โดยปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน เศรษฐกิจดิจิทัลจะกลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงาน CAEXPO ปีนี้อย่างแน่นอน

ด้วยงาน CAEXPO เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติและระดับประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจการค้าของจีนและอาเซียน 10 ประเทศ จึงทำให้งาน CAEXPO มีศักยภาพดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้เป็นจำนวนมาก โดยในงาน CAEXPO ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา มีผู้นำจากจีนและนานาประเทศเข้าร่วม 83 คน แขกผู้มีเกียรติระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมกว่า 3,300 คน และมีผู้เข้าร่วมงานและร่วมออกบูธกว่า 832,000 คน ซึ่งหมายความว่าทั้ง 11 ประเทศมีแพลตฟอร์มที่มีเสถียรภาพเพียงพอสำหรับความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมดิจิทัลในอุตสาหกรรม และเพิ่มศักยภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัล

CAEXPO มีความร่วมมือระดับผู้นำกับนานาประเทศ และมีประสบการณ์ด้านความร่วมมือแบบพหุภาคีในระดับนานาชาติมามากมาย ความรับผิดชอบและพันธกิจใหม่ของ CAEXPO คือ การสร้างสะพานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนให้เท่าทันและสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในงาน CAEXPO ครั้งที่ 17 จะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน เราต้องมาจับตาดูกันต่อไป


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *