‘กว่างซี คอนสตรัคชั่น’ผนึก‘เครือซีพี’ตั้งนิคมฯCPGCทำเลทอง EEC..รับนักลงทุนจีน

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำให้ไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญของเอเชียอีกครั้งในฐานะ ‘Gateway of ASEAN’

           นอกจากนี้ ยังได้รับการขานรับจากภาคธุรกิจเข้ามาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพื่อเปิดรับนักลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ไทยและจีน ได้แก่ บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป และบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)

            ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรม CPGC แห่งนี้กำลังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน ต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยนิคมฯมีทีมล่ามภาษาจีนมืออาชีพพร้อมให้บริการนักลงทุนชาวจีนโดยเฉพาะ หมดกังวลเรื่องอุปสรรคทางภาษา

            TAP Magazine ฉบับนี้ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ แฟรงค์ หยาง กรรมการผู้จัดการฝ่ายจีน บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ถึงภาพรวมการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม CPGC ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัท ซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากมณฑลกว่างซี ประเทศจีน ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

           ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัท นำไปสู่การพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC)” มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านหยวน ภายใต้การร่วมดำเนินงานระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และบริษัท ซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค

โครงการนิคมอุตสาหกรรม CPGC ตั้งอยู่ในเขต EEC ซึ่งได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

1. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
2. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
3. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
4. อุตสาหกรรมดิจิทัล
5. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

พื้นที่ของโครงการนิคมฯ CPGC ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องของตำบลมาบข่า , ตำบลมาบข่าพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีพื้นที่ทั้งหมด 3,068 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จำนวน 2,205 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 443 ไร่ โดยนำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ

พื้นที่ตั้งโครงการยังอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีจุดเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมล้อมรอบ ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 35 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ 145 กม. ท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา 35 กม.

• ผสานจุดแข็งสองผู้นำ

หยาง กล่าวว่า โครงการร่วมทุนพัฒนานิคมฯ CPGC ถือเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 2 พันธมิตรมารวมกัน ทั้งในด้านศักยภาพเงินทุน การก่อสร้าง การตลาด และเครือข่ายคอนเนคชั่นลูกค้าในจีน

จุดแข็งประการแรก คือ ความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยกว่างซี คอนสตรัคชั่น เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของมณฑลกว่างซี ทำให้ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินในจีน ขณะที่ ซี.พี.แลนด์ ในเครือซีพี ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ทำให้โครงการฯได้รับความไว้วางใจสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างนิคมฯ

ประการต่อมา คือ ศักยภาพในด้านการก่อสร้าง ซึ่งกว่างซี คอนสตรัคชั่นในจีน มีบริษัทลูก คือ กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป ยีอาน ที่มีประสบการณ์เข้ามาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเมืองไทยเป็นเวลา 9 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเข้าใจความต้องการของลูกค้านักลงทุนที่เป็นชาวจีนด้วยกัน เมื่อร่วมมือกับกลุ่มซี.พี. ซึ่งมีเครือข่ายคอนเนคชั่นกับบริษัทในจีน จึงเอื้อต่อการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการนิคมฯ CPGC แบ่งออกเป็น 3 เฟส ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาทั้งหมด 3 ปี และได้ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)แล้ว ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเฟสแรก 1,000 ไร่ ก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ในโครงการซึ่งจะมีทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม ศูนย์การค้า เพื่อรองรับการเข้ามาใช้พื้นที่ของนักลงทุน ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาเฟส 1 แล้วเสร็จภายในปี 2563 พร้อมทั้งตั้งเป้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เป็นแห่งแรก

ขณะนี้มีนักลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรมของจีนที่ให้ความสนใจโครงการ อาทิ อุตสาหกรรมยางพารา รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ และเริ่มมีลูกค้าจ่ายเงินมัดจำเพื่อจับจองพื้นที่ในโครงการแล้ว  โดยจุดเด่นของนิคมฯCPGC คือ เป็นนิคมฯสร้างใหม่ที่มีที่ดินแปลงใหญ่อีกจำนวนมาก  ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเชนการผลิตหลายอย่างจากจีนสามารถย้ายเข้ามาตั้งโรงงานได้พร้อมกัน

นอกจากนี้ นิคมฯ CPGC ยังเป็นนิคมที่อยู่ภายใต้การร่วมดำเนินงานระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และบริษัท ซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยศูนย์ให้บริการ One Stop Service ของ กนอ.ภายในนิคมฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการประสานขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันเงินการเงินของจีน บริการรับเหมาก่อสร้างที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ฯลฯ

• ปัจจัยหนุนจีนลงทุนไทย

ผู้บริหารนิคมฯ CPGC มองว่า ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการพัฒนานิคมฯ CPGC ถือเป็นหนึ่งในผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย EEC ของไทยกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งสอดประสานกันอย่างลงตัว ประกอบกับปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทย โดยมีทั้งบริษัทที่เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อมุ่งขยายตลาดสู่อาเซียน รวมถึงใช้ไทยเป็นฐานเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีความตกลง FTA กับไทย เช่น อินเดีย

ทั้งนี้ หยาง ยังกล่าวด้วยว่า การร่วมทุนในโครงการนิคมฯ CPGC ครั้งนี้ นับเป็นโครงการแรกและโครงการที่ใหญ่ที่สุดที่ กว่างซี คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากมณฑลกว่างซีได้ขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี คาดว่าจะส่งผลให้มีการขยายความร่วมมือในก้าวต่อๆไประหว่างกันขึ้น เช่น การเข้ามารับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงให้กับกลุ่มซี.พี. รวมถึงโครงการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *