นับเป็นเวลา 2 เดือนกว่าแล้วที่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “COVID-19” เกิดขึ้นในจีน และลุกลามขยายวงกว้างไปแล้ว 85 ประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก และคาดว่าอาจจะรุนแรงกว่าตอนการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจของจีน คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของ GDP โลกเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาถึง 17%
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล จนก้าวมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ยังมีบทบาทความสำคัญเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนคือ“ลูกค้ารายใหญ่”ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในหลายปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่ธุรกิจการท่องเที่ยว การบินและอุตสาหกรรมภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้ภาคธุรกิจและภาคการผลิตต่างๆต้องหยุดชะงักจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่บริษัทจำนวนมากทั่วโลกต่างต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ในจีน
การ ‘ปิดเมือง’ การห้ามเดินทาง รวมถึงมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลจีน ส่งผลทำให้การผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม ขาดชิ้นส่วนจำเป็นจากจีน หรือจีนเองหยุดการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายลงชั่วคราว ทำให้การผลิตและการส่งออกของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำยังส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก สำนักข่าวไทยได้รายงานถึงการประเมินทางเศรษฐกิจล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งได้ออกมาคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตอยู่ที่ 2.4% จาก 2.9 % เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการระบาดได้ฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทั้งการผลิต การท่องเที่ยว และการบริโภคส่วนบุคคล
OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตเพียง 0.2% หรือลดลงมา 0.4 %จากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตเพียง 4.9% ส่วน Eurozone คาดว่าจะเติบโตเพียง 0.8% โดยอิตาลี ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยจะไม่มีการเติบโตเลย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอยู่ที่ 1.9%
OECD ยังได้เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจเติบโตลดลงได้อีก หากการระบาดยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยอาจทำให้ทั่วโลกมีการเติบโตเพียง 1.5% จนหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
• COVID-19 กับผลกระทบต่ออาเซียน
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนโดยตรง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากการระบาดของไวรัสยืดเยื้อยาวนานเกิน 3 เดือน (แต่ไม่เกิน 6 เดือน) เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราว 1.0% และอาจลงไปแตะที่ระดับ 4.7% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.07-0.11% ของ GDP อาเซียนทั้งหมด โดยในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบอาจอยู่ในระดับปานกลาง โดยมูลค่าความเสียหายอาจจะอยู่ในระดับ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 0.09-0.13% ของ GDP ทั้งปีของไทย
ทั้งนี้ ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของแต่ละประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาถึงสัดส่วนการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่า เวียดนาม สิงคโปร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับสูง
ขณะที่ในส่วนของไทย สัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอยู่ในระดับปานกลาง เทียบเคียงกับมาเลเซียและเมียนมา ส่วนบรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนในระดับต่ำ
• COVID-19 กระทบไทยช่องทางไหนบ้าง
ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับจีนสูงในหลายมิติ เมื่อเศรษฐกิจจีนสะดุดย่อมฉุดเศรษฐกิจไทยให้สั่นคลอนตามไปด้วย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ช่องทาง ได้แก่
1.ภาคธุรกิจและบริการที่ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว
เศรษฐกิจไทยมีการกระจุกตัวสูงมากในภาคการท่องเที่ยว (12% ของ GDP) การท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก โดยรายได้จากการท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 28% ของทั้งหมด และการส่งออกของไทยไปจีนคิดเป็น 12% ของการส่งออกทั้งหมด
KKP Research ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะลดลงถึง 50-60% ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และทั้งปีอาจจะลดลง 10-13% ธุรกิจหลักที่จะได้รับผลกระทบหนัก 5 อันดับแรก ได้แก่ โรงแรมที่พัก การค้าปลีก ภัตตาคาร การขนส่งทางบก และการขนส่งทางอากาศ
2. ผลกระทบจากการหยุดชะงักของภาคการผลิตในจีน
ภาคการผลิตในไทยเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีนอยู่ไม่น้อย หากจีนเองไม่สามารถส่งออกสินค้าได้จากการปิดโรงงาน การขาดคนงาน หรือการหยุดชะงักของระบบขนส่ง การส่งออกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยหมวดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และออปติกส์ สินค้าเกษตรและประมง รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้และสินค้าที่ทำจากไม้และกระดาษ
ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องอาศัยวัตถุดิบและขั้นกลางจากจีนในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้าในยุค Global Value chain ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยจะเห็นว่าหมวดคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นหมวดที่จะได้รับผลกระทบจากทั้งสองช่องทาง
3. ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก
ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยลบต่อภาคการส่งออกไทยที่ผูกโยงกับเศรษฐกิจโลกสูง สินค้าที่เสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ สินค้าเกษตรและประมง เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสินค้าที่ทำจากไม้และกระดาษ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนเกินครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด
4. กรณีมีการแพร่ระบาดในประเทศ (Local transmission)
ช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการยกเลิกการจัดงานอีเว้นท์และกิจกรรมต่างๆ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามขึ้นจนทางการจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรคถึงขั้นสูงสุด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นจะยิ่งรุนแรงและขยายวงกว้าง เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มรูปแบบในปีนี้
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าหลังจากนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ โลกจึงจะก้าวข้ามจากฝันร้ายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 สิ่งที่ต้องติดตาม คือ การรับมือของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อและลุกลามรุนแรงขนาดไหน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการประคับประคองเศรษฐกิจ