ทูตพาณิชย์ไทยในจีน ชี้ช่องโอกาสธุรกิจท่ามกลางวิกฤตแดนมังกร

ในวิกฤตยังมีโอกาส เกาะติดสถานการณ์ตลาดจีน ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 พร้อมชี้ช่องทางโอกาสธุรกิจที่น่าสนใจ จาก 4 ทูตพาณิชย์ไทยในจีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ชิงต่าว และฮ่องกง ผ่านเวทีเสวนา“สถานการณ์ตลาดแดนมังกร ปี2020” จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา

• ฮ่องกงกว้านซื้อข้าวหอมมะลิไทย

เริ่มกันที่ “ฮ่องกง” คู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย ชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ฮ่องกง กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ภาคการค้าต่างๆในฮ่องกงเติบโตลดลง ซ้ำเติมจากผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาคการค้าปลีกที่หดตัวลง 24% ธุรกิจร้านอาหารปรับตัวลดลง 50% และธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวลดลงถึง 90%

อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจบางประเภทที่ยังทำยอดขายสวนกระแสเศรษฐกิจขาลง โดยในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสฯในฮ่องกง ได้ส่งผลให้หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ และข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีกบางแห่งขาดแคลน หลังจากพบว่ามีประชาชนกว้านซื้อเพื่อกักตุนไว้บริโภค

สินค้าไทยที่ขายดีมาก คือ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสินค้าหลักที่มีความจำเป็นในการบริโภค โดยฮ่องกงเป็นแหล่งนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าปรุงสำเร็จ อาหารสำเร็จรูป ที่ได้รับความนิยม และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างดี เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการออกจากที่พัก และหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ผลจากการที่จีนประสบปัญหาการระบาดไข้หวัดหมู ยังเป็นโอกาสให้ฮ่องกงนำเข้าเนื้อหมูจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 2,000% ทดแทนจากจีน

ความต้องการหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ผ้าเช็ดมือที่ฆ่าเชื้อ และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังสร้างโอกาสให้กับร้านจำหน่ายสินค้า ABOUTHAI ในฮ่องกง เป็นแหล่งซื้อสินค้าที่จำเป็นของชาวฮ่องกงมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องขยายธุรกิจนำเข้า Medical supply จากไทยมากขึ้น

ขณะที่เกมส์กีฬาออนไลน์ (eSports) รวมถึงภาพยนตร์และละคร ได้กลายเป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมในฮ่องกงมากขึ้น เพราะผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน

ผอ.ชณันภัสร์ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย ในปี 2562 ที่ผ่านมา มูลค่าการ8hkระหว่างไทยและฮ่องกงอยู่ที่ประมาณ 14,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยส่งออกไปฮ่องกงคิดเป็นมูลค่ากว่า 11,715 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุด ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ฮ่องกง เพิ่มเติมจากข้อตกลง FTA อาเซียน-ฮ่องกง

“ปัจจุบัน นักลงทุนฮ่องกงให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นผลจากการทำ FTA อาเซียน-ฮ่องกง โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนฮ่องกงเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น จากเดิมที่ส่งเสริมให้ลงทุนที่จีนอย่างเดียว”

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฮ่องกงยังได้มีการพัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (GBA) รวมถึงข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน นอกจากนี้ ฮ่องกงยังได้เข้ามาเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office : HKETO) ในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย

• ไวรัส COVID-19 หนุนคนใช้ออนไลน์มากขึ้น

หันมาดูสถานการณ์ในจีนแผ่นดินใหญ่กันบ้าง จีรนันท์ หิรัญญสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ของจีน อาจปรับลดลงจาก 6% มาอยู่ที่ 5%

ปัจจุบัน แม้หน่วยงานรัฐและเอกชนจะเริ่มกลับมาเปิดทำงานตามปกติ แต่พนักงานบางส่วนยังคงทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ขณะที่ภาคการผลิตของจีนยังไม่ได้กลับมาดำเนินการอย่างเต็มที่ซึ่งส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคธุรกิจบริการในจีน ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้คนจีนหลีกเลี่ยงการออกไปที่สาธารณะและเก็บตัวอยู่ในบ้าน แต่เลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์มากขึ้น

“ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัส ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้คาดกาณ์ว่าในช่วง 2-3 เดือนนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนที่จะเปลี่ยนไป คือ การหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยสินค้าไทยอย่างข้าวหอมมะลิ และอาหารปรุงสำเร็จที่พร้อมอุ่นรับประทาน มีโอกาสได้รับความนิยมมากขึ้น”

ด้าน เนตรนภิช จุลกนิษฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู กล่าวว่า ภาคธุรกิจบริการในจีน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของไวรัส และกระทบให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งในตลาดลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์และเติบโตมากขึ้นจากการที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน คือ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร ขณะที่มาตรการขยายเวลาเปิดเทอมของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆในจีนต้องหันมาดำเนินการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้แท็บเล็ตและโน้ตบุ๊คกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงขายดีจนหมดสต๊อก

• ส่องโอกาสธุรกิจใหม่หลังวิกฤต

แม้วิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะเป็นฝันร้ายที่ชาวจีนต้องเผชิญ แต่ ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว มองในอีกด้านหนึ่งว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดครั้งนี้คลี่คลายคง เศรษฐกิจจีนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นจุดเริ่มต้นให้กับธุรกิจใหม่ๆที่จะเติบโตในระยะถัดไปหลังผ่านพ้นวิกฤต โดยเฉพาะธุรกิจเพื่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพ การเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง ในอนาคตอันใกล้ จึงคาดว่าเครื่องออกกำาลังกาย และอุปกรณ์กีฬาจะขายได้ดีมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการฟอกอากาศ หรือทำความสะอาดสภาพแวดล้อมที่จะเข้าสู่ยุครุ่งเรืองมากขึ้น รวมไปถึงสินค้ากลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซอฟท์แวร์ เกม ออนไลน์ เนื่องจากประชาชนที่อยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างการรับรู้ถึงดิจิทัลโปรดักส์และศักยภาพของดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ๆ ของครีเอเตอร์ชาวไทยสู่ตลาดผู้บริโภคชาวจีน


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *