COVID-19 ไวรัสเปลี่ยนโลก

วิกฤตไวรัส COVID-19 กำลังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราเริ่มเห็นวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่เรื่องการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่วัฒนธรรมการทักทาย ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ AI และอื่นๆ ทดแทนมนุษย์เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส

สงครามระหว่างมนุษย์กับไวรัสครั้งนี้ ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงภูมิรัฐศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่

มองไปข้างหน้าจากนี้ COVID-19 จะเปลี่ยนโลกของเราไปในทิศทางใด? จีนจะผงาดขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯหรือไม่? หรือนี่จะเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์แบบที่หลายคนคาดการณ์กัน?

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจผ่านการเสวนาออนไลน์ ‘New World Paradigm : ไวรัสเปลี่ยนโลก’ จัดโดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD)

ศึกนี้ยาวนาน

อ.อาร์ม เปิดประเด็นด้วยการชี้ให้เห็นว่า วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้คงไม่“จบเร็ว”และจะอยู่กับเราไปอีกนาน เปรียบเทียบได้กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นต้องใช้เวลา 1 ปี 8 เดือนกว่าการระบาดจะสิ้นสุด

อ.อาร์ม บอกว่า ในช่วงแรกที่ไวรัส COVID-19 ระบาดในจีน นอกจากความเข้าใจผิดที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องระยะสั้น โดยเปรียบเทียบกับการระบาดไข้หวัดใหญ่ปี 2009 หรือโรคซาร์สในปี 2003 แล้ว หลายคนยังมองว่านี่เป็นปัญหาเฉพาะของจีน ใช้เวลาไม่นานก็ฟื้น แต่ตอนนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นการระบาดในระดับโลกไปแล้ว และมีแนวโน้มจะยาวนานถึง 1-2 ปี อีกทั้งยังอาจมีการระบาดได้หลายระลอก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ความเร็วในการผลิตวัคซีน ยารักษา และมาตรการป้องกันต่างๆt

ทั้งนี้ ไวรัส COVID-19 จะทำให้โลกเปลี่ยนไปใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1. การทวนกระแสโลกาภิวัตน์

2. ความสำคัญของการต้องคิดใหม่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ

3.การผงาดขึ้นมาของจีนและจุดจบของการนำเดี่ยวของสหรัฐ ที่จะไม่ใช่ผู้นำโลกคนเดียวอีกต่อไปแล้ว

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นระลอกๆ ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ มาจนถึงช่วงสงครามการค้า และการเกิดกระแสชาตินิยมในประเทศต่างๆ แต่ COVID-19 ได้เข้ามาตอกย้ำให้ 3 ประเด็นดังกล่าวปรากฏชัดเจนมากขึ้น

COVID-19 กับการทวนกระแสโลกาภิวัตน์

ประเด็นแรกที่ COVID-19 จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ คือ การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ หนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ ผลกระทบจาก Global Supply Chain ที่ทำให้หลายประเทศอาจต้องคิดทบทวนใหม่ จากเดิมที่เคยมองแค่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในจีนซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตและส่งชิ้นส่วนต่างๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดไปทั่วโลก ทำให้ผลกระทบต่อ Global Supply Chain จากการพึ่งพาระบบการผลิตระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้ธุรกิจต้องคิดถึงการกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศ การกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้า

” อีกมุมหนึ่งที่เราได้เห็น คือ กระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การที่แต่ละประเทศเริ่มปิดพรมแดน แม้แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังใช้คำเรียกว่าเป็น China Virus ขณะที่จีนก็ออกมาชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสนี้จะมาจากสหรัฐ ทำให้เรื่องไวรัสกลายมาเป็นประเด็นการเมืองและชาตินิยม”

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังฉายให้เห็นถึงการร่วมมือกันในระดับโลกที่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลกที่ไม่ได้มีบทบาทอย่างที่ควรจะมี เมื่อเทียบกับการที่แต่ละประเทศได้ออกมาใช้มาตรการเข้มงวดและมีทางเลือกที่แตกต่างกันไป

การระบาดในตะวันตกคือจุดเปลี่ยน

ประเด็นสำคัญที่อ.อาร์มเน้นย้ำ คือ COVID-19 ไม่ได้เปลี่ยนโลกเพราะการแพร่ระบาดที่จีน แต่สาเหตุที่ไวรัสตัวนี้กำลังเปลี่ยนโลกครั้งใหญ่เป็นเพราะการระบาดในตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก

การที่สหรัฐประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวกับการรับมือการระบาดครั้งนี้ จะมีนัยยะอย่างมหาศาลต่อระบบและระเบียบของโลกในอนาคต โดยปัจจัยที่อาจจะทำให้สหรัฐรับมือได้สำเร็จ คือ การเป็นผู้นำในด้านการคิดค้นนวัตกรรม ยารักษาและวัคซีน รวมถึงมาตรการการรับมือที่เหมาะสม แต่ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความล้มเหลว คือ ความเหลื่อมล้ำและระบบการแพทย์ของสหรัฐที่ยังไม่ใช่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อคนจนที่ติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงการรักษา จึงทำให้ไวรัสลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

การผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกของจีน

ประเด็นสุดท้ายของ “ไวรัสเปลี่ยนโลก” คือ การผงาดขึ้นมาของจีนและจุดจบการนำเดี่ยวของสหรัฐ ซึ่งต้องรอดูว่า สหรัฐจะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้แค่ไหน ขณะที่ในตอนนี้ เราเห็นภาพการตกต่ำลงของสหรัฐที่เคยเป็นผู้นำเดี่ยวของโลก แต่กลับเริ่มเห็นกระแสชื่นชมและมีการพูดถึงโมเดลต่างๆของจีนในด้านบวก ไม่ว่าจะเป็นโมเดลด้านเศรษฐกิจ ด้านการปกครอง การรับมือกับโรคระบาดซึ่งแตกต่างจากโมเดลของตะวันตกหรือสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในจีนจะพลิกกลับมาดีขึ้น บริษัทห้างร้านธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แต่ชีวิตของผู้คนในจีนยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดการกลับมาระบาดซ้ำ

“หลายครั้งที่ได้ยินคนไทยหลายคนบอกว่าอยากจะเอาแบบจีน เจ็บแต่จบเร็ว ผมคิดว่า เราคงต้องรับมือโรคระบาดนี้ไปอีกยาว ไม่ใช่เรื่องที่จะจบเร็วแล้ว”

อ.อาร์ม มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้โดยทั่วไปน่าจะยังย่ำแย่ แต่ยังดีกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากจีนน่าจะยังรักษาเศรษฐกิจในประเทศไว้ได้ ตอกย้ำเทรนด์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้จีนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม้อาจจะไม่ได้เติบโตเท่าสมัยก่อน

3 คำถามท้าทาย

ท้ายที่สุด สำหรับประเทศไทยมี 3 คำถามที่ อ.อาร์ม บอกว่า ต้องเริ่มถามแล้วต้องช่วยกันคิด นั่นคือ

1. COVID-19 มีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี เราจะปรับตัวใช้ชีวิตรับมือกับการระบาดครั้งนี้อย่างไร?

2. ถึงเวลาที่ต้องกล้าคิดนอกกรอบเพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เลิกคิดถึงแค่การพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่ต้องตั้งโจทย์ใหม่ทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น

3. เราคงต้องคิดถึงการปรับตัวภูมิรัฐศาสตร์โลกในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจาก COVID -19

“ทั้ง 3 คำถาม ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนเกิดพลังร่วมในสังคม ให้เห็นว่าทิศทางจะเป็นไปอย่างไร และมีความจำเป็นอย่างไรที่เราจะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับระบบและระเบียบเศรษฐกิจ” อ.อาร์ม กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อวิกฤตไวรัสกำลังเปลี่ยนโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง เราจะอยู่ตรงจุดไหนของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นี่อาจเป็นคำถามสำคัญของทุกคนในโลกยุค COVID-19


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *