ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยต่างเผชิญกับศึกหนักการแพร่ระบาด COVID-19 แต่สถานการณ์ในจีนกลับสวนทาง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขเป็นศูนย์เมื่อวันที่ 19 มี.ค.63 เป็นครั้งแรก
หางโจว เมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียงซึ่งอยู่ห่างจากอู่ฮั่นที่เป็นศูนย์กลางการระบาดมากกว่า 1,000 ไมล์ และเป็นเมืองที่มีขนาดประชากรประมาณ 10 ล้านคนพอๆกับกรุงเทพฯ ได้เริ่มดำเนินมาตรการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส ตั้งแต่ก่อนที่จะผู้ติดเชื้อรายแรก และเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้สรรพกำลังทางเทคโนโลยีเข้าจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนและการวางแผนที่รอบคอบก่อนที่จะมีเหตุการณ์ ยังช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเทียบกับเมืองที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอย่างอู่ฮั่น


World Economic Forum ได้รวบรวมบทเรียนที่เมืองหางโจวได้นำมาใช้ในการรับมือและตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 หนึ่งในมาตรการสำคัญในการควบคุมการระบาด คือ ความรวดเร็วและความแม่นยำในการระบุและตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพื่อแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อและผู้ไม่ติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นข้อมูลมาใช้ในบริหารจัดการในขั้นตอนต่อๆไป
จากการที่จีนประสบความสำเร็จในการจำแนกลำดับพันธุกรรมได้อย่างรวดเร็ว และรายงานข้อมูลนี้ไปยังองค์การอนามัยโลก นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและยารักษา ยิ่งแยกพันธุกรรมได้เร็ว ก็ยิ่งทำให้มีข้อมูลเพื่อนำใช้ในการพัฒนาชุดทดสอบ รวมทั้งพัฒนาทางเลือกในการรักษาและวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ขั้นตอนในการบริหารจัดการที่จีนนำมาใช้ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ตัดสินใจถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน เริ่มจากการรับฟังความเห็นของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุข และตัดสินใจที่จะใช้การบริหารจัดการแบบเกินกว่าเหตุ (Overacting) เพื่อจะเป็นกันไว้ดีกว่าแก้ แทนที่จะบริหารตามหลังปัญหาแบบ“วัวหายล้อมคอก”
ผลจากการตัดสินใจใช้มาตรการเชิงรุก ทำให้จีนสามารถค้นพบผู้ติดเชื้อได้จากการตรวจแบบจำนวนมากๆในวงกว้าง และทำให้ได้ข้อสรุปอัตราความรุนแรงของโรคซึ่งพบว่า 80% ของผู้ติดเชื้อมักมีอาการไม่รุนแรง มีเพียง 20% ที่มีอาการรุนแรงต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดทางการแพทย์ ทั้งนี้ การตรวจสอบการติดเชื้อจำนวนมากๆดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแข็งขันด้วย
หางโจวยังถือเป็นเมืองแรกๆ ที่ดำเนินนโยบายแบบเกินกว่าเหตุในระดับสูงสุด ตั้งแต่ยังไม่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ที่จะถูกปิด ไล่ระดับลงไปถึงระดับพื้นที่ควบคุม โดยมีการประกาศที่ชัดเจน มีการติดตามการตั้งแต่ระดับชุมชนลงไปจนถึงระดับตัวบุคคล


นอกจากนี้ ยังมีการจัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตให้ต่อเนื่องผ่านการบริหารจัดการที่เป็นระบบและควบคุมโดยรัฐ ซึ่งจะดำเนินการแจกจ่ายไปยังพื้นที่ที่ถูกปิด/ควบคุม ผ่านจุดกระจายต่างๆในชุมชนที่เข้าถึงได้สะดวก รวมถึงการจัดสถานที่สำหรับแยกกักกันโรคในทุกๆโซน โดยปรับปรุงสถานที่อย่างโรงแรม สนามกีฬา เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว พร้อมทั้งมีการควบคุมติดตามตลอด 24 ชั่วโมงผ่านออนไลน์ ทุกๆข่าวสารและการประกาศต่างๆ จะมาจากศูนย์กลางการสื่อสารที่จุดเดียวเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน
ด้วยความที่เมืองหางโจวเป็นเมืองที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ทำให้หางโจวเป็นเมืองแรกที่มีการนำเอาเทคโนโลยีอย่าง Big Data มาใช้ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยวิธีการที่ใช้ชื่อว่า “one map, one QR code, and one index” โดยนำระบบ QR code 3 สีมาใช้เพื่อแยกแยะและระบุตัวตนของผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในเมืองและในเขตควบคุมต่างๆ
QR code สีแดงหมายถึงผู้ที่ต้องกักตัว 14 วัน สีเหลืองกักตัว 7 วัน และสีเขียว สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยทุกคนจะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัวและประวัติสุขภาพแล้วระบบจะสร้าง QR code สีที่ตรงตามเกณฑ์การคัดกรองให้ ซึ่งเราสามารถใช้ QR code นี้ในการสแกนผ่านด่านหรือจุดตรวจคัดกรองเพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ โดยผู้ใช้ QR code จะต้องอัพเดทข้อมูลสุขภาพทุกวัน เพื่อที่ระบบจะได้ติดตามผู้ต้องสงสัยติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ระบบดังกล่าวยังมีการควบคุมและติดตามจากภาครัฐ และมีบทลงโทษที่รุนแรงในกรณีฝ่าฝืนเข้าไปในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต หลังจากที่ระบบนี้ได้ถูกลองใช้ในทุกเมืองของมณฑลเจ้อเจียงแล้ว จึงได้นำไปใช้ในมณฑลอื่นๆของจีนอีกด้วย
สุดท้าย คือ การรวมศูนย์ข้อมูลเพื่อให้ความรู้ และข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนจากหน่วยงานตรงที่เชื่อถือได้และมีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานตรงจากผู้เชี่ยวชาญทางการสาธารณสุขซึ่งมีความชัดเจนและสอดคล้องกัน มีการแจ้งรายละเอียดถึงแนวทางการปฏิบัติในแต่ละระดับจนถึงระดับบุคคลเพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลและเข้าใจตรงกัน
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดที่จีนนำมาใช้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากประชาชนไม่ตระหนักร่วมกันว่านี่คือปัญหาร่วมกันของทุกคนในสังคมที่ต่างได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกันในทุก ๆ ทางตามแนวปฏิบัติของสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือ รวมถึงการทำงานและเรียนหนังสือที่บ้านผ่านออนไลน์


สำหรับเรื่องศึกษาผ่านออนไลน์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงยังได้มีการพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของตัวเองร่วมกับ DingTalk แอปพลิเคชันสำหรับสื่อสารคล้ายๆกับ WeChat แต่สามารถทำได้มากกว่าแค่การแชท โดยนำต้นแบบจากระบบที่ใช้และพัฒนากันในโรงเรียนของธุรกิจในเครืออาลีบาบามาใช้การพัฒนาฟังก์ชั่นเกี่ยวกับการศึกษาผ่านออนไลน์ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์นี้ได้อย่างทันท่วงที
หลายๆมาตรการที่จีนออกมาอย่างเข้มงวด ถ้าจะเรียกว่า“เจ็บแต่จบ”ก็ไม่คงผิดนัก แม้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้ทุกวันนี้จีนสามารถประกาศชัยชนะเหนือไวรัส COVID-19 ได้แล้ว จนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนานาประเทศ จากบทเรียนที่จีนใช้ในการต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าครั้งนี้