จากอาหารท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่
“แต่ละวันมีหลัวซือเฝิ่น 2 ล้านซอง ถูกส่งออกจากเมืองหลิ่วโจวกระจายไปยังทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า หลัวซือเฝิ่นของเมืองหลิ่วโจวประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด จากอาหารเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เติบโตกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้ชาวโลกรู้จักหลิ่วโจว และเข้าถึงรสชาติของหลัวซือเฝิ่น” หนี เตี้ยวหยาง นายกสมาคมหลัวซือเฝิ่น เมืองหลิ่วโจว กล่าว
จากการรวมกลุ่มและขยายขนาดอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่นได้รับการยกระดับมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในสังกัดสำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน ในเดือนส.ค. 2561 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “หลัวซือเฝิ่นหลิ่วโจว” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GI จะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากแหล่งผลิตในพื้นที่หลิ่วโจวเท่านั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการรักษาคุณภาพมาตรฐานและชื่อเสียงของสินค้า” หนี เตี้ยวหยางกล่าว


ธุรกิจหลัวซือเฝิ่นที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีก่อนอย่างแบรนด์ “หลัวป้าหวัง” “สี่หลัวฮุ่ย” “ฮวนหลัวซง” เป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ภายในแผนกแพ็คกิ้งสินค้าของโรงงานบริษัทกว่างซีหูกุ้ยฟู้ด ผู้เขียนได้เห็นไลน์การผลิตแต่ละไลน์ มีคนงาน 6-7 คน แพ็คเส้นหมี่อบแห้ง หน่อไม้ดอง ถั่วลิสง ฟองเต้าหู้ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันบริษัทมีทั้งหมด 8 ไลน์การผลิต กำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 1.5 แสนซองต่อวัน ในปี 2562 มูลค่าการผลิตสูงถึง 560 ล้านหยวน
หยาง จื๋อ รองผู้จัดการใหญ่บริษัทกว่างซีหูกุ้ยฟู้ด กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนจาก “Internet Plus” ทำให้ธุรกิจหลัวซือเฝิ่นพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อยๆ และเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งธุรกิจ บริษัทได้ทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดเด่นของตนเอง
หลัวซือเฝิ่นแบรนด์ “หลัวป้าหวัง” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เติบโตมาจากอิทธิพลของการตลาด “Internet+หลัวซือเฝิ่น” ปัจจุบันสินค้าของแบรนด์ดังกล่าว ไม่เพียงขายดีเป็นอันดับต้นๆ ในออนไลน์เท่านั้น ในส่วนช่องทางออฟไลน์ก็มีช่องทางจำหน่ายต่างๆ ครอบคลุมทั้งร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ เริ่มส่งออกไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560 มีมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยล้านหยวนต่อปี
การพัฒนาของนิคมอุตสาหกรรม “สี่หลัวฮุ่ย” “ฮวนหลัวซง” คือภาพย่อส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่นในเมืองหลิ่วโจว นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ พยายามพัฒนาหลัวซือเฝิ่นในรูปแบบสินค้าบรรจุเสร็จ (pre-packaged) ส่งผลให้หลัวซือเฝิ่นค่อยๆ พัฒนาไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม และบรรลุสู่การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จนกระทั่งในปี 2562 นิคมอุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่น มีกำลังการผลิตมากกว่า 2 ล้านซองต่อวัน มูลค่าการผลิตต่อปีทะลุ 6 พันล้านหยวน และมีช็อปจำหน่ายทั่วประเทศมากกว่า 18,000 แห่ง
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนของหลัวซือเฝิ่น ทำให้การแปรรูปเส้นหมี่ การปลูกหน่อไม้ การปลูกถั่วฝักยาว การเพาะเลี้ยงหอยขมค่อยๆพัฒนาเติบโตมา ช่วยให้ทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น จนหลัวซือเฝิ่นได้กลายเป็นเหมือน “นามบัตรใหม่” ของอุตสาหกรรมเมืองหลิ่วโจว
ตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่ในบ้าน การสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ไม่สะดวกเหมือนเคย ภายใต้สถานการณ์พิเศษเช่นนี้ หลัวซือเฝิ่นที่เป็น “สินค้าอาหารยอดนิยม” ได้กลับมามีกระแสขึ้นอีกครั้ง
#หลัวซือเฝิ่นยังไม่จัดส่งสินค้า #รอหลัวซือเฝิ่น ฯลฯ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลัวซือเฝิ่นเหล่านี้ กลายเป็นแฮชแท็กที่ติดอันดับยอดฮิตในโลกโซเชียลถึง 8 ครั้ง ผู้คนนับล้านเร่งติดตามสินค้า…สะท้อนให้เห็นถึงแรงดึงดูดของหลัวซือเฝิ่นได้เป็นอย่างดี


“เราคาดว่าความต้องการหลัวซือเฝิ่นในช่วงโรคระบาดจะสูงกว่าปกติ 5-10 เท่า หรืออาจจะสูงมากกว่านี้ แต่เนื่องจากโรคระบาดส่งผลกระทบต่อแรงงานและห่วงโซ่อุปทาน จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แน่นอนว่าต้องสร้างแรงกดดันให้กับกำลังการผลิต ตอนนี้สินค้าที่เราผลิตแต่ละวัน จะเป็นยอดสั่งซื้อที่ได้รับก่อนหน้านี้” หยาว ปิ่งหยาง ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทกว่างซีหลัวป้าหวังกล่าว
ผลจากโรคระบาดในครั้งนี้ ทำให้หลัวซือเฝิ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต หนี เตี้ยวหยาง นายกสมาคมหลัวซือเฝิ่น เมืองหลิ่วโจว คาดการณ์ว่า มูลค่าการผลิตหลัวซือเฝิ่นในปี 2563 จะสูงถึง 9 พันล้านหยวน
อุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่นจะสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างไร?
หยาง จื๋อ รองผู้จัดการใหญ่บริษัทกว่างซีหูกุ้ยฟู้ด กล่าวว่า ในช่วงโรคระบาดสะท้อนให้เห็นว่า หลัวซือเฝิ่นในรูปแบบสินค้าบรรจุเสร็จ (pre-packaged) ยังมีความต้องการอีกมาก การพัฒนาในอนาคตต้องคำนึงถึงคุณภาพ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เขายังกล่าวด้วยว่า ก้าวต่อไป พวกเขาจะเดินหน้าเรื่องการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal Certification) เพื่อผลิตหลัวซือเฝิ่นส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ
ด้าน หนี เตี้ยวหยาง นายกสมาคมหลัวซือเฝิ่น เมืองหลิ่วโจว มองว่า ในแง่ธุรกิจ การขยายกำลังการผลิตเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์พาไป เมื่อต้องรับมือกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องแน่ใจว่าทั้งวัตถุดิบ แรงงาน เครื่องจักรสามารถรองรับได้เพียงพอ ขณะเดียวกัน ยังต้องควบคุมคุณภาพ ยกระดับความพึงพอใจ และรักษาลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำ

