เดือนมี.ค.- พ.ค. ของทุกปีถือเป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนของไทยออกสู่ตลาด ปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งปีที่การส่งออกทุเรียนของไทยเผชิญความท้าทายตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย (ปี 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 97.6 %จากปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท )
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกทุเรียนไปยังจีนปีนี้กลับไม่ได้เกิดผลกระทบอย่างที่หลายคนวิตกกังวล อีกทั้งราคารับซื้อผลผลิตยังพุ่งสูงขึ้น โดยเดือนมี.ค. 2563 ราคาเหมาอยู่ที่ 130-155 บาท/กก. ส่วนราคาเหมาล่วงหน้าเดือนเม.ย. ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2563 อยู่ที่ 115-130 บาท/กก. โดยล้งทางภาคตะวันออกต่างหันมาแย่งกันรับซื้อผลผลิตทุเรียนส่งออก หลังสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศจีนคลี่คลาย ชาวจีนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ


• ทุเรียนไทยส่งออกจีนยังสดใส
ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ทุกคนต่างกังวลว่าวิกฤต COVID-19 จะกระทบให้การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนลดลง ในขณะที่ผลผลิตทุเรียนปีนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์วันนี้กลับกลายเป็นว่าตลาดจีนกลับให้การตอบรับเพิ่มขึ้น ถึงแม้ในช่วงแรกจะมีปัญหาอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ทำให้ขนส่งไม่ได้ตามปกติ แต่ล่าสุดจากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เจรจากับทางการจีนไฟเขียวเปิดด่านนำเข้าผลไม้เพิ่มอีก 2 ด่าน คือ ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง ระบบขนส่งจึงคล่องตัวขึ้น
“ สถานการณ์ส่งออกวันนี้ถือว่ายังไม่มีปัญหา อีกทั้งในปีนี้ยังมีล้งรับซื้อผลไม้มากกว่า 400 โรง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมี 200-300 โรง
ทุเรียนโดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองยังถือเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของไทย ราคาอยู่ในระดับร้อยต้นๆต่อกิโลกรัม แม้ว่าผลผลิตในภาคตะวันออกจะเพิ่มขึ้น โอกาสอย่างนี้หาไม่ง่ายนักสำหรับสินค้าเกษตรของไทยที่เจอข้อจำกัดทั้งด้านโลจิสติกส์และวิกฤตไวรัสที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกช็อค”ฉัตรกมลกล่าว พร้อมทั้งมองว่า การที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ยังช่วยสร้างแต้มต่อให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการสาธารณสุขที่ดี ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
“ ทุเรียนไทยยังมีโอกาสอีกมากในตลาดจีน โจทย์ใหญ่ คือ การรักษาจรรยาบรรณเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยชูเรื่องคุณภาพและจุดขายด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผลวิจัยว่าทุเรียนหมอนทองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและเส้นใยที่ดีต่อสุขภาพ
สิ่งสำคัญในวันนี้ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว หากเกษตรกรรุ่นใหม่ สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ และเรียนรู้ที่จะใช้ฐานข้อมูลเพื่อกระจายสินค้าให้สอดคล้องกับดีมานด์ในตลาด รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ผมเชื่อว่าอาชีพการทำสวนทุเรียนจะไปต่อได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ฉัตรกมล กล่าว
• เหลียวหลังแลหน้า..เส้นทางทุเรียนไทยในจีน
ทำไมทุเรียนไทยจึงได้รับความนิยมในตลาดจีน เส้นทางนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? อ.อรทัย เอื้อตระกูล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้า-ส่งออกสินค้าพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ประเทศไทยเริ่มส่งออกทุเรียนไปจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 2546 หลังจากจีนมีการเปิดประเทศและเปิดเสรีทางการค้ากับไทย
“ ก่อนหน้านั้น เราส่งออกทุเรียนผ่านทางฮ่องกงมานานแล้ว กระแสทุเรียนไทยเริ่มฟีเวอร์จากในฮ่องกง โดยมีบริษัทไทฮงที่เข้ามาบุกเบิกทำตลาดส่งออกจากไทยไปฮ่องกงเป็นรายแรกๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2537-2539


อ.อรทัย บอกว่า ผลจากการขยายเส้นทางคมนาคมทางบกทำให้กว่างซีกลายเป็นประตูผลไม้ไทยสู่จีน โดยเฉพาะทุเรียนที่เริ่มบูมเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงปี 2558 การส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนเริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคการค้าทุเรียนออนไลน์ โดยเริ่มจากการขายทุเรียนผ่านกลุ่มวีแชทของชาวจีนรุ่นใหม่ที่มาเรียนและทำงานในเมืองไทย จนปัจจุบันสามารถพัฒนาขยายเครือข่ายจนมีลูกค้าทั่วจีน
สำหรับสถานการณ์ส่งออกทุเรียนในปัจจุบัน อ.อรทัย มองว่า ปีนี้ราคายังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้ดีและกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว โดยปีนี้มีคนจีนเข้ามาเปิดล้งทุเรียนในไทยเพิ่มขึ้นหลายร้อยราย จนเกิดการแย่งซื้อทุเรียน
“ปีนี้ ราคาทุเรียนยังดี และคาดว่าในช่วง 3-4 ปีนี้จะยังไปได้ดีอยู่ แต่ปัญหาใหญ่ของไทยที่ยังแก้ไม่ตก คือ การส่งทุเรียนอ่อนซึ่งเกิดขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นทั้งในไทย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมถึงนักธุรกิจชาวจีนที่เข้าไปลงทุนในลาว กัมพูชา เมียนมา แนวทางการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของไทยจึงควรเน้นที่เรื่องคุณภาพและการกระจายสินค้าส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ” อ.อรทัย กล่าว
• อนาคตทุเรียนไทยภายใต้ความท้าทาย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าไวรัส COVID-19 คือ การส่งออกทุเรียนไม่มีคุณภาพไปยังประเทศจีน ขณะที่ตำแหน่งแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีนของไทยกำลังถูกท้าทายภายใต้การหันมาขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนของคู่แข่งในอาเซียน
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560-2562 อัตราการขยายตัวของผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 26% โดยปี 2562 ไทยผลิตทุเรียนได้ 1 ล้านตัน ส่งออก 5 แสนตัน (จีน 57% เวียดนาม 25% ฮ่องกง 15%) และในปี 2563 คาดมีผลผลิตออกทั้งหมด 1.1 ล้านตันเพิ่มขึ้น 15%
ขณะที่การขยายตัวของการบริโภคทุเรียนในจีนได้สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการเร่งขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนในอาเซียน โดยมีคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียซึ่งมีการจัดการทุเรียนทั้งระบบ โดยเฉพาะการทำการตลาด สร้างภาพลักษณ์พรีเมี่ยมให้กับทุเรียนมูซานคิง ภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า FAMA (The Federal Agricultural Marketing Authority)
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียและจีนยังได้บรรลุข้อตกลงอนุญาตให้มาเลเซียสามารถส่งออกทุเรียนทั้งลูกและแช่แข็งสู่ตลาดจีนได้แล้ว จากเดิมที่อนุญาตให้ไทยประเทศเดียว นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีจุดแข็งในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีความหลากหลาย และในอนาคตยังมีโอกาสที่มาเลเซียจะจับมือกับอินโดนีเซียในการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพื่อขยายกำลังการผลิตร่วมกันอีกด้วย
นอกจากมาเลเซีย อีกคู่แข่งที่ต้องจับตา คือ กัมพูชาซึ่งมีทุเรียนกัมปอตเป็นทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ ภายใต้การผลักดันการขยายพื้นที่ปลูกและทำตลาดทุเรียนกัมพูชาของนักธุรกิจจากจีนและเวียดนาม
ดังนั้น ทุเรียนจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตและแข่งขันกันดุ การปรับตัวอย่างแรก ไทยจึงต้องมีการบริหารจัดการวางแผนการผลิตที่ดี ต้องวิเคราะห์ว่าปริมาณการผลิตและความต้องการของโลกจะเป็นเท่าไหร่?ในอีก 5 ปีข้างหน้า
สอง..ไทยต้องหันมาเน้นคุณภาพและมาตรฐาน ต้องปฏิเสธทุเรียนอ่อนและผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงพัฒนาแพจเกจจิ้งที่ยืดอายุการเก็บรักษาของทุเรียนผลสดให้ยาวนานขึ้น
สาม..แปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะทุเรียนอบแห้ง เช่น ไอศกรีมทุเรียน เค้กทุเรียน ครีมบำรุงผิว ถ่านดูดกลิ่นจากเปลือกทุเรียน ฯลฯ
“ ผมคิดว่า ในช่วง 5 ปีนี้ ทุเรียนไทยในจีนยังไปได้อยู่ แต่เราต้องปรับตัว รุกเข้าไปทำตลาดใหม่ๆในมณฑลชั้นในของจีน พร้อมกับเร่งหาตลาดอื่นนอกจากจีนและฮ่องกง เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา รวมทั้งหันมาชูจุดขายทุเรียนเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่เป็นนิชมาร์เก็ต และมีมูลค่าสูง เช่น ทุเรียนนนท์ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนป่าละอู ฯลฯ” อ.อัทธ์ กล่าว