ส่องมุมมองสองนักวิชาการ จีนเอาชนะโควิด เดินหน้ากม.มั่นคงในฮ่องกง

การจัดการปัญหาของจีน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการแพร่ระบาด “COVID-19” หรือแม้แต่การออกกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ที่กำลังขยายไปสู่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ จะส่งผลต่อการค้าการลงทุนและทิศทางต่อไปของฮ่องกงอย่างไร ติดตามประเด็นที่น่าสนใจผ่าน 2 มุมมองนักวิชาการ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี และ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

• ปัจจัยความสำเร็จจีนเอาชนะวิกฤต COVID-19

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประเมินความสามารถของจีนต่อการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสในจีนลดลงและไม่ได้กระจายไปพื้นที่ต่างๆอย่างที่หลายฝ่ายเคยหวาดกลัว แม้มีการระบาดซ้ำแต่อยู่ในระดับควบคุมได้ หากพิจารณาจากขนาดพื้นที่ของประเทศและพิจารณาจากตัวแปรต่างๆ ทั้งในเรื่องความพร้อมการรับมือ การเปิดเผยข้อมูลโดยรวม ถือว่า“ประสบความสำเร็จ”

“จีนมีกฎกติกาเข้มงวดอาจทำให้ควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ผู้คนพร้อมสละสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพื่อให้ส่วนรวมปลอดภัย คล้ายๆของไทย แต่บางประเทศในตะวันตก สุขภาพและเสรีภาพต้องมาพร้อมกัน”

ปัจจัยความสำเร็จต่อมา คือการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมาก การร่วมใจของคนในประเทศ ความเป็นผู้นำของฝ่ายปกครองของจีน การที่คนอยู่ในระเบียบวินัยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และจีนมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สามารถนำเครื่องไม้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเองในการติดตามโรค ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมให้จีนประสบความสำเร็จ

• มุมมองต่อการออก“กม.ความมั่นคงฉบับใหม่ฮ่องกง”

ส่วนประเด็นร้อนที่เป็นที่จับตาเรื่องกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ฮ่องกง รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่า เบื้องต้นเป็นกฎหมายภายในฮ่องกง ออกโดยสภาประชาชนแห่งชาติจีน กฎหมายลักษณะนี้มีอยู่แทบทุกประเทศ เป็นกฎหมายที่ออกมารองรับเรื่องที่จะเป็นความผิดทางอาญา เช่น การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างรัฐบาล การใช้วิธีการรุนแรง การคุกคามกิจกรรมต่างๆของประชาชน การก่อการร้าย การแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศที่มีอธิปไตยก็มีกฎหมายความมั่นคงอย่างนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่คนฮ่องกงทั่วไปเป็นกังวลกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับกฎหมายแบบนี้ในยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ รวมถึงมีความกังวลว่ากฎหมายนี้อาจนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีในเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และต้องขึ้นศาลจีน ความกังวลเหล่านี้จึงต้องอธิบายกัน ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง จึงนำประเด็นการออกกฎหมายฉบับนี้มาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ การแสดงจุดยืนของประเทศไทยต่อการออกกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง รศ.ดร.ปณิธาน ยืนยันว่า ไทยมีจุดยืนจีนเดียวมาโดยตลอด โดยไทยไม่ได้มีจุดยืนลงไปลึกว่าแม้มีจีนเดียวอาจจะสนับสนุนสองระบบหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของจีน และการออกกฎหมายนี้หลายประเทศก็กระทำกัน

รศ.ดร.ปณิธาน ให้ความเห็นว่า ไทยไม่มีประเด็นเห็นต่างกับจีน และสนับสนุนจีนเดียวแม้กระทั่งเรื่องไต้หวัน สนับสนุนให้จีนแก้ปัญหาด้วยสันติให้พัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าและค่อนข้างเป็นบวก เป็นคู่ค้าลำดับหนึ่ง จะไม่มีการแถลงการณ์ให้เกิดความรู้สึกจากจีนว่าไทยไม่เห็นด้วย ฉะนั้น จุดยืนไทยจึงค่อนข้างชัดเจน

ด้านมุมมองต่อเครือข่ายภาคธุรกิจของไทยในฮ่องกง หลังจากมีกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ จะส่งผลกระทบตามมาอย่างไรบ้างนั้น รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า ภาคธุรกิจไทยปรับตัวได้เร็ว ผลกระทบอาจมีไม่มาก อีกอย่างจีนตระหนักเรื่องนี้โดยได้พัฒนาเมืองอื่นๆให้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ๆ โดยปัจจุบันจีนได้มีนโยบายพัฒนาเกาะไหหลำเพื่อลดความแออัดฮ่องกง และจีนเองมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจอีกหลายศูนย์ที่ไทยไปเชื่อมโยงไว้แล้ว ทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาฮ่องกง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงที่มีต่อไทยจึงค่อนข้างน้อย

ด้าน ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงการออกกม.ความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงว่า ในความเป็นจริงกม.ความมั่นคงมีทุกประเทศ แม้แต่ประเทศไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เพราะกฎหมายนี้สามารถบังคับใช้ได้ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเสี่ยงต่อความมั่นคง แต่ที่ผ่านมาฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่ไม่มีซึ่งความพยายามที่จะออกกม.ความมั่นคงนี้มา จนกระทั่งปี 2014 เกิดปฏิวัติร่มเหลืองที่มีความพยายามจะออกกฎหมายเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้เกิดการสร้างความรุนแรงกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยความรุนแรงถึงขนาดทำร้ายร่างกาย ทำลายสาธารณูปโภค ทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลจนทำให้เกิดมิคสัญญี เพราะฉะนั้นประเทศที่มีสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องใช้กฎหมายความมั่นคงเข้ามาจัดการ จึงมองว่าวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศให้ใช้กฎหมาย National Security ในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุม การออกกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำ แต่ถ้ารัฐเพิกเฉยไม่ทำถือว่าเป็นความผิดปกติ ที่ว่าคุณมีประเทศแต่ไม่มีกฎหมายความมั่นคงได้อย่างไร

“แต่ด้วยวิธีคิดแบบจีนที่มีความตรงไปตรงมา ตามสิ่งที่ควรจะเป็นจึงไม่ถูกใจโลกตะวันตกที่วางหมากเอาไว้ โลกตะวันตกไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา จึงออกมาพูดถึงกันเยอะเรื่องของการออกกม.ความมั่นคงแห่งชาติซึ่งค่อนไปในทางแทรกแซง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำร้ายและทำลายสภานิติบัญญัติ ออฟฟิศของจีนในฮ่องกง เอาธงชาติสมัยอาณานิคมไปชัก ตอนนั้นผู้นำทางโลกตะวันตกออกมาพูดกันมากว่า จีนจะต้องใช้สันติเพราะนี่มันคือความสวยงามของการเรียกร้องแบบวิถีทางประชาธิปไตย.=h

แต่เวลานี้กลับตรงกันข้าม เมื่อความรุนแรงกลับเกิดขึ้นที่สหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าถ้าทันทีที่เกิดการปล้นเราจะยิง แต่เวลาที่ประเทศอื่นๆเกิดสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกลับให้ใช้สันติ แต่เวลาเหตุการณ์เกิดในประเทศตัวเองคุณไม่ทำ ดังนั้นการที่เกิดเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่ามันเกิดสองมาตรฐาน เป็นการคอนเฟิร์มว่าสหรัฐอมริกาในฐานะผู้จัดระเบียบโลกได้สูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกไปแล้ว เพราะฉะนั้นนักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายๆคนสรุปว่าสถานการณ์นี้กลายเป็น The End of American World Order แล้ว

• บทบาทของฮ่องกงที่ลดลง

ผศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า บทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจฮ่องกงจะค่อยๆลดลง กลายเป็นเพียงแค่เชิงสัญลักษณ์ จะไม่เป็นจุดศูนย์กลางของการเงินอีกต่อไป สิ่งเดียวที่จีนไม่มีและฮ่องกงมีคือ เรื่องของกฎระเบียบการนำเข้าส่งออกเงินที่ในจีนยังมีกระบวนการการควบคุมไหลเข้าไหลออกของเงิน ซึ่งที่ผ่านมา จีนเองได้พยายามพัฒนาในเรื่องที่จะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการขายและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น อาจจะยังไม่สะดวกเท่ากับฮ่องกงแต่ก็ค่อยๆพัฒนาขึ้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การผลักดันนโยบายการร่วมกันพัฒนาเงินสกุลใหม่สำหรับการค้าขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกร่วมกันระหว่างฮ่องกง จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่มุ่งตอบโจทย์ในการเรื่องของการเปิดเสรีรองรับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนให้สะดวกมากขึ้น สิ่งที่จีนทำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2010 คือ พยายามผลักดันธุรกรรมเงินหยวนในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีความพยายามในการสร้างความยืดหยุ่นความสะดวกในการลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน จะพบว่าบทบาทของฮ่องกงซึ่งเคยเป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้ามาอย่างยาวนานระหว่างโลกตะวันตกกับจีนจะมีบทบาทที่ลดลง เนื่องจากตอนนี้จีนกำลังลดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและหันไปค้าขายกับประเทศที่ตั้งอยู่ในหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งเชื่อมโยงจีนกับเอเชีย แอฟริกาและยุโรปเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีเส้นทางรถไฟจากจีนไปยุโรปได้โดยทันที จากเดิมที่ฮ่องกงเคยถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นประตูของการค้าการลงทุนกับโลกตะวันตกมาตั้งสมัยที่จีนยังปิดประเทศ ปัจจุบันจึงกำลังค่อยๆลดบทบาทลงไป


 

Your email address will not be published. Required fields are marked *