ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ไม่ได้เพียงแต่ภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีการเชื่อมโยงสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) ในเครือ “Bank of China” ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี
เนื่องในโอกาส 45 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน หลี่ เฟิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการใหญ่ประจำธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงก้าวย่างธุรกิจไทย-จีน ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และภาคการเงินที่เจริญรุดหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
‘ประเทศไทย’ หัวใจสำคัญของอาเซียน
ซีอีโอ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีความสำคัญต่อแผนกลยุทธ์ของ Bank of China ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจวิเทศธนกิจ (BIBF) ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2537 ซึ่งต่อมาได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบภายใต้ชื่อ “ธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด สาขากรุงเทพฯ” เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2540 หลังจากนั้นจึงยกระดับมาเป็น “ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นบริษัทลูกของธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) จำกัด หรือ BOCHK เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์การลงทุนและพัฒนาธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน
หลี่ เฟิง กล่าวว่า Bank of China มีเครือข่ายทั่วโลกกว่า 61 ประเทศ รวมถึง 10 ประเทศของอาเซียน ในด้านการบริการ“การค้าระหว่างประเทศ” Bank of China ยังมีบทบาทเป็นธนาคารตัวกลางชำระเงินระหว่างประเทศ (Settlement) และเคลียลิ่งแบงค์สำหรับเงินหยวน (RMB Clearing Bank) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
วิสัยทัศน์ของ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) คือการเป็นธนาคารจีนที่ให้บริการดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นพันธมิตรทางการเงินที่เชื่อถือได้ที่ให้บริการแก่ธุรกิจจีน-ไทย ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) มีสำนักงานสาขา 9 สาขา ทั้งในเขตกรุงเทพฯและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ สำนักงานใหญ่สาทร, รัชดาฯ, ตลาดไท, บางนาซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สาขาระยองในภาคตะวันออก, สาขาขอนแก่นและนครราชสีมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สาขาเชียงใหม่ในภาคเหนือ และสาขาหาดใหญ่ในภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจศูนย์บริการวีซ่าจีนในไทย ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทลูก “ไชน่า บริดจ์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด”
นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจจีน Bank of China ยังมุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์เชิงท้องถิ่น (Localization Strategy) ด้วยการขยายฐานลูกค้าธุรกิจไทยซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและธุรกิจครอบครัวที่มีชื่อเสียง รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุน การนำเข้าและการส่งออกในประเทศจีน
ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่มีความหลากหลาย ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมถึงมีส่วนร่วมในการผลักดันธุรกรรมเงินหยวนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและขยายโอกาสทางธุรกิจในจีนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องผ่านเงินสกุลอื่น เพิ่มโอกาสและผลตอบแทนในการเจรจาตกลงทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น
“ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยอดการทำธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีที่ผ่านมา บริการชำระดุลเงินหยวนของเรามีการขยายตัวสูงขึ้นถึง 70% โดยมีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านหยวนในปี 2562 ในอนาคตไทยและจีนยังมีโอกาสที่จะขยายธุรกรรมเงินหยวนระหว่างกันเพิ่มขึ้น จากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน และอาเซียน รวมถึงนโยบายผลักดันเงินหยวนสู่สากลของจีน
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสกุลเงินหยวนยังสูงกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงแข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสในการถือครองสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารผลตอบแทนการลงทุนสำหรับสถาบันการเงิน บริษัทไทยและนักลงทุนชาวไทย”


ซีอีโอ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายเปิดกว้างการนำเข้าเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยปีละกว่า 10 ล้านคน Bank of China เป็นธนาคารพันธมิตรแห่งเดียวของงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในการจัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ได้เป็นเจ้าภาพเชิญนักธุรกิจไทยจากภาคธุรกิจต่างๆเช่นสินค้าอาหาร ยางพารา และเครื่องประดับอัญมณีมากกว่า 50 รายไปร่วมงาน โดยอำนวยความสะดวกในด้านการจองโรงแรม การสั่งซื้อตั๋วเครื่องบิน และการแปลต่างๆ อีกทั้งได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างผู้นำเข้าสินค้าจากจีนกับผู้ประกอบการจากไทย ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกจากการเจรจาการค้าในครั้งนั้นมากกว่า 100 ล้านหยวน
มุมมองต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน
ในมุมมองของหลี่ เฟิง ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่มีความโดดเด่น มีพื้นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศจีน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงด้านการเงิน
“ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การลงทุนของจีนในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงปี 2561-2562 ซึ่งมีบริษัทจีนจำนวนมากเข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานในเมืองไทย ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง, นิคมอุตสาหกรรม WHA ในชลบุรีและระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งในอยุธยา”
นอกเหนือจากด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนแล้ว หลี่ เฟิง วิเคราะห์ว่า จุดเด่นที่สำคัญของไทย คือ การมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่มีความสมบูรณ์และครบวงจร โดยเฉพาะด้านชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังมีราคาที่ดินต่ำกว่าพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลจีน และมีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าจ้างที่อาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาและกัมพูชา


นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับการลงทุน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงข่ายโทรคมนาคม 5G, อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ฯลฯ ขณะที่จีนเองมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตและวิศวกรรมการก่อสร้าง ทั้งสองประเทศจึงมีโอกาสขยายความร่วมมือกันได้อีกมาก
“หลังจากผ่านช่วง COVID-19 ไปแล้ว ผมเชื่อมั่นว่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทยจะยิ่งเติบโตมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นเหมือนกับบททดสอบประเทศต่างๆ ซึ่งไทยสามารถแสดงผลงานในการรับมือการแพร่ของโรคระบาดได้ดี สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล การให้ความร่วมมือของประชาชน และความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย อันจะส่งผลดีต่อการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ย่อมต้องการลงทุนในพื้นที่ที่ปลอดภัย ถือเป็นการเสริมจุดแข็งเดิมที่ไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานผลิตอยู่แล้ว” หลี่ เฟิง กล่าว
หลี่ เฟิง ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากช่วงการระบาดของ COVID-19 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มจะติดลบ 8-10% แต่ปรากฏว่า การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับโครงสร้างการส่งออกของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การส่งออกทางด้านรถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ปรับตัวลดลง ส่วนการส่งออกข้าว สินค้าอาหาร อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสอดรับกับตลาดภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปได้
“ในช่วงเผชิญการแพร่ระบาด COVID-19 ทั้งจีนและไทยต่างจับมือช่วยเหลือฝ่าฟันวิกฤตไปด้วยกัน และต่างได้รับบทเรียนและประสบการณ์อย่างยาวนานจากโรคระบาดครั้งนี้ เพื่อนำไปฟื้นฟูพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น
ในฐานะที่จีนและไทยเป็นมิตรประเทศและมีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ผมเชื่อว่า หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งจีนและไทยจะสามารถผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรมเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นให้แก่ทั้งสองประเทศ” ซีอีโอ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) กล่าวด้วยความเชื่อมั่น